แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์มอบอำนาจให้ฟ้องเพียงคดีเดียว กิจการต่างๆ ที่ระบุไว้ เช่น การแต่งทนาย ถอนฟ้อง ยอมความ อุทธรณ์ฎีกา รวมตลอดถึงการรับเงินในคดี ล้วนแต่เป็นกิจการเฉพาะคดีนั้นทั้งสิ้น จึงไม่ใช่ใบมอบอำนาจทั่วไป คงปิดอากรแสตมป์เพียง 5 บาท
หนังสือรับสภาพหนี้ ไม่ใช่ตราสารตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ในประมวลรัษฎากร จึงไม่ต้องปิดอากรแสตมป์
การค้ำประกันจะระงับสิ้นไปก็ต่อเมื่อมีกรณีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ คือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698ถึง 701 เช่น เจ้าหนี้ผ่อนเวลาให้ลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันขอชำระหนี้แล้วเจ้าหนี้ไม่ยอมรับ การที่จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันแจ้งให้เจ้าหนี้คือโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้เสียภายใน 7 วัน แต่โจทก์ไม่ฟ้องคดีนั้นการค้ำประกันยังไม่ระงับ
ย่อยาว
โจทก์มอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้อง ให้พันตำรวจตรีชวลิต ประเสริฐกุล ฟ้องคดีนี้ว่า จำเลยที่ 1 ได้นำเช็คสั่งจ่ายเงิน 100,000 บาทมาแลกเงินกับโจทก์ เมื่อโจทก์นำเช็คไปขึ้นเงินธนาคารได้ปฏิเสธการใช้เงินตามเช็ค โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามเช็คแล้ว ต่อมาวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ว่าจะผ่อนชำระหนี้รายนี้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 5,000 บาท และยอมให้ดอกเบี้ย จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว เมื่อทำสัญญากันแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินแก่โจทก์เลย ดอกเบี้ยก็ไม่เคยชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 100,000 บาท กับดอกเบี้ยค้างชำระ 8,500 บาท ดอกเบี้ยแต่วันทำหนังสือรับสภาพหนี้ถึงวันฟ้อง 6,250 บาท
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การและเพิ่มเติมคำให้การไม่รับรองว่าหนังสือมอบอำนาจจะถูกต้องแท้จริงหรือไม่ จำเลยที่ 1 จะได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้กับโจทก์หรือไม่ และจำเลยที่ 2 จะได้ทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์หรือไม่ หากจะฟังว่าจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้จริง ก็หลุดพ้นความรับผิดแล้ว เพราะโจทก์ผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงิน 100,000 บาทกับดอกเบี้ยที่ค้าง 8,500 บาท ดอกเบี้ยจากวันผิดนัดถึงวันฟ้อง 6,250 บาท รวมเป็นเงิน 114,750 บาท ให้เสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 100,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันชำระให้โจทก์แทนจนครบ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ข้อแรกจำเลยที่ 2 ฎีกาขึ้นมาว่า หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเอกสาร จ.2 เป็นใบมอบอำนาจทั่วไป แต่ปิดอากรแสตมป์เพียง 5 บาท และหนังสือสัญญารับสภาพหนี้เอกสาร จ.5 ไม่ปิดอากรแสตมป์เลย ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีไม่ได้ ศาลฎีกาเห็นว่า หนังสือมอบอำนาจเอกสาร จ.2 เป็นหนังสือที่โจทก์มอบอำนาจให้พันตำรวจตรีชวลิตฟ้องคดีนี้เพียงคดีเดียว กิจการต่าง ๆ ที่ระบุไว้ เช่น การแต่งทนายถอนฟ้อง ยอมความ อุทธรณ์ฎีกา รวมตลอดถึงการรับเงินในคดี ล้วนเป็นกิจการเฉพาะคดีนี้ทั้งสิน จึงไม่ใช่ใบมอบอำนาจทั่วไป ที่ปิดอากรแสตมป์ไว้ 5 บาท ถูกต้องแล้ว ส่วนหนังสือสัญญารับสภาพหนี้เอกสาร จ.5 นั้น ไม่ใช่ตราสารตามบัญชีอัตราแสตมป์ในประมวลรัษฎากร จึงไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ เอกสาร 2 ฉบับดังกล่าวใช้เป็นพยานหลักฐานได้
ฎีกาของจำเลยที่ 2 อีกข้อหนึ่งที่ว่า การที่จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันได้แจ้งให้เจ้าหนี้คือโจทก์ ฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้เสียภายใน 7 วัน โจทก์ไม่ฟ้องคดีตามกำหนดนี้ จำเลยที่ 2 จะพ้นความรับผิดหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ถ้าค้ำประกันจะระงับสิ้นไปก็ต่อเมื่อมีกรณีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ คือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 ถึง มาตรา 701 เช่น เจ้าหนี้ผ่อนเวลาให้ลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันขอชำระหนี้แล้วเจ้าหนี้ไม่ยอมรับแต่กรณีที่จำเลยที่ 2 อ้าง ไม่ใช่กรณีตามบทบัญญัติดังกล่าว การค้ำประกันยังไม่ระงับ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์อยู่
พิพากษายืน