แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การริบทรัพย์เป็นโทษทางอาญาอย่างหนึ่ง ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะที่จำเลยกระทำผิดให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล จะริบหรือไม่ริบก็ได้ แต่กฎหมายที่ใช้ในขณะพิจารณาคดีบัญญัติว่าต้องริบ เช่นนี้ต้องใช้กฎหมายในขณะจำเลยกระทำผิด คือศาลจะไม่ริบก็ได้ ตาม ก.ม.ลักษณะอาญา มาตรา 8.
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้อง จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงฟังได้ความว่า จำเลยใช้แหทอดจับสัตว์น้ำในเขตต์หวงห้ามจับสัตว์น้ำ โดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.อากรค่าน้ำ ร.ศ.๑๒๐ ริบของกลาง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้คืนแหของกลางให้จำเลย
โจทก์ฎีกา,
ศาลฎีกาเห็นว่า กฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยกระทำผิดคือ มาตรา ๑๘ พ.ร.บ.อากรค่าน้ำบัญญัติว่า สัตว์น้ำซึ่งบุคคลได้จับโดยฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.นี้ ก็ดี เครื่องมืออันใช้ฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.นี้ ก็ดี ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจที่จะยึดไว้เป็นของหลวง และตาม พ.ร.บ.การประมงค์ ๒๔๙๐ ซึ่งเป็น ก.ม.ที่ใช้ในปัจจุบัน มาตรา ๖๙ บัญญัติว่า เรือ เครื่องมือทำการประมงค์ สัตว์น้ำและสิ่งอื่น ๆ ที่ใช้ หรือได้มาโดยการกระทำผิดต่อ พ.ร.บ.นี้ ศาลจะริบเสียก็ได้ แต่ถ้าสิ่งที่ว่านี้ได้ใช้หรือได้มาโดยการกระทำความผิดในที่รักษาพืชพันธ์ ให้ศาลริบเสียทั้งสิ้น เห็นได้ว่ากฎหมายในขณะที่จำเลยกระทำผิดและกฎหมายที่ใช้อยู่ปัจจุบันในวรรคแรกเป็นเรื่องอยู่ในดุลยพินิจของศาลที่จะริบหรือไม่ริบก็ได้ จะใช้ ก.ม.ปัจจุบันในวรรคหลัง มาริบแหของกลางในคดีนี้ไม่ชอบ เพราะ ก.ม.ในขณะที่จำเลยกระทำผิด มิได้บังคับให้ริบ ซึ่งตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๘ ให้ใช้ ก.ม.ที่มีโทษเบาแก่ผู้ต้องหา ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้คืนของกลางแก่จำเลยชอบแล้ว
พิพากษายืน.