คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5348/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญากู้ยืมเงินมีข้อความระบุชัดเจนว่าจำเลยได้รับเงิน80,000 บาท ไปแล้วในวันทำสัญญา การที่จำเลยนำสืบว่าไม่ได้รับเงินเต็มตามจำนวน 80,000 บาท ตามที่ระบุไว้ในสัญญา เนื่องจากโจทก์นำหนี้เงินกู้เดิม 10,000 บาทรวมกับยอดหนี้เงินกู้ใหม่ 13,000 บาท แล้วโจทก์คิดต้นเงินรวมกับดอกเบี้ยเป็นจำนวน 70,000 บาท โดยให้จำเลยผ่อนชำระเดือนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 70 เดือน เป็นการนำสืบว่าจำเลยได้รับเงินไปจากโจทก์จำนวนเท่าใด ไม่ใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารสัญญากู้ยืมเงินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)แต่เป็นการนำพยานบุคคลมาสืบถึงความไม่สมบูรณ์แห่งหนี้ตามมาตรา 94 วรรคท้าย จำเลยย่อมนำสืบได้ จำเลยกู้เงินโจทก์ 23,000 บาท มิใช่ 80,000 บาท ตามที่ระบุในสัญญากู้ยืมเงิน และโจทก์คิดดอกเบี้ยโดยนำต้นเงินรวมกับดอกเบี้ยเป็นจำนวน 70,000 บาท แล้วให้จำเลยชำระเดือนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 70 เดือน เมื่อคำนวณแล้วได้เป็นอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ดอกเบี้ยจึงเป็นโมฆะ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161และ 167 บัญญัติให้ศาลต้องสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ ดังนั้น แม้ว่าในคำให้การของจำเลยมิได้ขอให้โจทก์ใช้ค่าทนายความแก่จำเลย ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจพิพากษาให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยคดีนี้จำเลยไม่ได้ฟ้องแย้ง คำให้การของจำเลยที่ขอให้ศาลไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาทและที่จำเลยไม่ได้ขอให้โจทก์ใช้ค่าทนายความแทนจำเลยไม่ใช่คำขอท้ายคำฟ้อง จึงไม่มีกรณีที่ศาลจะพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องของจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ 80,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ชำระดอกเบี้ยรายเดือนจนกว่าจะชำระต้นเงินครบกำหนดชำระต้นเงินคืนภายในวันที่ 1 กันยายน2529 จำเลยได้รับเงินครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญา นับแต่วันที่จำเลยกู้เงินจำเลยไม่เคยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 9 ปีเศษ โจทก์คิดเพียง 5 ปี เป็นดอกเบี้ย 60,000 บาทรวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง 140,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 140,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี ของต้นเงิน 80,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยรับเงินจากโจทก์เพียง 13,000 บาทแต่โจทก์ให้เขียนสัญญาเป็น 80,000 บาท โดยให้จำเลยผ่อนชำระเดือนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 70 เดือน หากจำเลยผิดนัดโจทก์จะฟ้องเรียกเงินจำนวน 80,000 บาท จำเลยผ่อนชำระหนี้ตลอดมาแต่ระยะหลังโจทก์บอกว่าไม่ต้องผ่อนชำระแล้วเพราะโจทก์จะฟ้องเรียกเงิน 80,000 บาท ขอให้ศาลไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาท
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกา 140,000 บาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาฟังได้ว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ 23,000 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยรวมกับต้นเงินเป็นจำนวน70,000 บาท ให้จำเลยผ่อนชำระเดือนละ 1,000 บาท เป็นเวลา70 เดือน จำเลยชำระเงินให้โจทก์เกินกว่าต้นเงินกู้
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการแรกว่า สัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 มีข้อความระบุชัดเจนว่าจำเลยได้รับเงิน 80,000 บาท ไปแล้วในวันทำสัญญาดังนั้นการที่จำเลยนำสืบว่าไม่ได้รับเงินจำนวน 80,000 บาทครบถ้วนตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 นั้น เห็นว่าการที่จำเลยนำสืบว่าไม่ได้รับเงินเต็มจำนวน 80,000 บาท ตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 เนื่องจากโจทก์นำหนี้เงินกู้เดิม 10,000 บาท รวมกับยอดหนี้เงินกู้ใหม่13,000 บาท แล้วโจทก์คิดต้นเงินรวมกับดอกเบี้ยเป็นจำนวน70,000 บาท โดยให้จำเลยผ่อนชำระเดือนละ 1,000 บาทเป็นเวลา 70 เดือน ตามบันทึกการรับเงินเอกสารหมาย ล.1 เช่นนี้เป็นการนำสืบว่าจำเลยได้รับเงินไปจากโจทก์จำนวนเท่าใด ไม่ใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 (ข) แต่เป็นการนำพยานบุคคลมาสืบถึงความไม่สมบูรณ์แห่งหนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคท้าย ดังนั้น จำเลยย่อมนำสืบได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าต้นเงิน 80,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 แล้วจำเลยต้องชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์เดือนละ 1,000 บาท โจทก์ไม่ได้เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ดอกเบี้ยจึงไม่เป็นโมฆะนั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ 23,000 บาท มิใช่ 80,000 บาท ตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 และโจทก์คิดดอกเบี้ยโดยนำต้นเงินรวมกับดอกเบี้ยเป็นจำนวน 70,000 บาท แล้วให้จำเลยชำระเดือนละ1,000 บาท เป็นเวลา 70 เดือน ดังนั้น การคำนวณดอกเบี้ยต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาซึ่งเมื่อคำนวณแล้วได้เป็นอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ดอกเบี้ยจึงเป็นโมฆะ
ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ในประการต่อไปมีว่าตามคำให้การของจำเลยขอให้ศาลไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาท แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง และจำเลยมิได้ขอให้โจทก์ใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้น การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ใช้ค่าทนายความแทนจำเลย เป็นการพิพากษาเกินคำขอนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ 80,000 บาทตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 ได้รับเงินไปครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญา แต่จำเลยไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ไปเพียง 23,000 บาท และได้ผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบแล้วจำเลยจึงไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้อง สำหรับค่าทนายความนั้นเป็นค่าฤชาธรรมเนียมอย่างหนึ่งซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161, 167 บัญญัติให้ศาลต้องสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ ดังนั้นแม้ว่าในคำให้การของจำเลยมิให้ขอให้โจทก์ใช้ค่าทนายความแก่จำเลย ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจพิพากษาให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลย อีกทั้งคดีนี้จำเลยไม่ได้ฟ้องแย้ง คำให้การของจำเลยที่ขอให้ศาลไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาทและที่จำเลยไม่ได้ขอให้โจทก์ใช้ค่าทนายความแทนจำเลยไม่ใช่คำขอท้ายฟ้อง จึงไม่มีกรณีที่ศาลจะพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องของจำเลย
พิพากษายืน

Share