คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1287/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติอันฝ่าฝืนต่อข้อบังคับของสมาคมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1291 อาจทำ เป็นคำร้องขออย่างคดีไม่มีข้อพิพาท โดยไม่จำต้องฟ้องสมาคมเป็นจำเลยก็ได้
โจทก์ฟ้องคณะกรรมการบริหารสมาคม 14 คนเป็นจำเลยขอให้จำเลยเพิกถอนมติที่ฝ่าฝืนข้อบังคับ โดยระบุว่าจำเลยมีหน้าที่รับผิดชอบบริหารกิจการตามข้อบังคับจำเลยได้ลงมติฝ่าฝืนข้อบังคับของสมาคม อันเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ในฐานะที่โจทก์เป็นสมาชิกสมาคม ดังนี้โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานะที่จำเลยเป็นคณะกรรมการบริหารสมาคมผู้รับผิดชอบกิจการของสมาคม ให้เพิกถอน มติโดยฝ่าฝืนข้อบังคับได้ หาจำต้องฟ้องสมาคม ด้วยไม่
โจทก์ฟ้องคณะกรรมการบริหารสมาคมแม้คำขอของ โจทก์ระบุเจาะจง ให้จำเลยเพิกถอนมติก็ตาม แต่สภาพ แห่งการบังคับอาจไม่ เปิดช่องให้ทำเช่นนั้นได้ ทั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1291 ก็บัญญัติให้ศาล เพิกถอนมตินั้นเสียโดยไม่ต้องบังคับให้บุคคลใด เพิกถอน ดังนั้น ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้เพิกถอนมติ ของสมาคม โดยไม่ได้บังคับจำเลยได้ ไม่เป็นการเกินคำขอ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องใจความว่า โจทก์เป็นสมาชิกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีข้อบังคับสำหรับสมาคมหลายอย่างหลายประการดังปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้อง และให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่วางระเบียบการต่าง ๆ เท่าที่ไม่ขัดตัวบทข้อบังคับของสมาคม

จำเลยเป็นกรรมการบริหารสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยโดยจำเลยที่ 1 เป็นนายกสมาคม คณะกรรมการบริหารสมาคมดังกล่าวมีหน้าที่รับผิดชอบบริหารกิจการตามวัตถุประสงค์ของสมาคมตามข้อบังคับที่ 28 และ 32 ข.

การประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2519 จำเลยที่ 2, ที่ 3, ที่ 4, ที่ 5, ที่ 6, ที่ 7, ที่ 9, ที่ 10, ที่ 11, ที่ 12 สมคบกันมีมติเป็นเสียงข้างมาก ให้สมาชิกที่ขาดจากสมาชิกภาพแล้วตามประกาศของสมาคมเนื่องจากค้างชำระค่าบำรุงเกินกว่าข้อบังคับกำหนดให้ได้รับการผ่อนผันไม่ต้องขาดจากสมาชิกภาพเพื่อให้ได้สิทธิต่าง ๆ เช่นการออกเสียงเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2519 และได้รับสิทธิด้านสวัสดิการต่าง ๆ เป็นมติที่ขัดต่อข้อบังคับของสมาคม ที่ 10, 11, 15, 18, 19 จ. 25 และ 27 จึงขอให้จำเลยเพิกถอนมติให้สมาชิกที่ขาดสมาชิกภาพแล้วตามประกาศของสมาคมผ่อนผันไม่ต้องขาดจากสมาชิกภาพ เพื่อให้ได้รับสิทธิต่าง ๆ ตามข้อบังคับของสมาคมที่ขัดต่อข้อบังคับของสมาคม

จำเลยที่ 1, ที่ 2, ที่ 3, ที่ 4, ที่ 6, ที่ 7, ที่ 8, ที่ 9, ที่ 10, ที่ 11, ที่ 13, ที่ 14 ให้การต่อสู้คดีในประเด็นหลายประการ ส่วนจำเลยที่ 5, ที่ 12 ขาดนัดยื่นคำให้การ และจำเลยที่ 8 ขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนมติการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมครั้งที่ 2/2519 วันอังคารที่ 13 มกราคม 2519 ที่มีมติให้ผ่อนผันค่าบำรุงแก่สมาชิกได้ตามสมควรโดยให้อยู่ในดุลพินิจของเลขาธิการ

จำเลยที่ 2, ที่ 3, ที่ 4, ที่ 6, ที่ 7, ที่ 9, ที่ 10, ที่ 11, และที่ 14 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว เห็นว่าการฟ้องขอให้เพิกถอนมติของสมาคมจำต้องฟ้องสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นนิติบุคคลอีกผู้หนึ่งต่างหากจากจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยเป็นส่วนตัวได้ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกามีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่า การฟ้องขอให้เพิกถอนมติของสมาคมจำต้องฟ้องสมาคมเป็นจำเลยหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1291 บัญญัติว่า “ถ้าสมาคมลงมติโดยฝ่าฝืนต่อข้อบังคับของสมาคมเองก็ดี หรือฝ่าฝืนต่อกฎหมายก็ดี เมื่อสมาชิกคนหนึ่งคนใดหรือพนักงานอัยการร้องขอ ท่านให้ศาลเพิกถอนมตินั้นเสีย ฯลฯ ” บทบัญญัติตามมาตรา 1291 ดังกล่าว เมื่อเทียบกับกรณีร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่ อันฝ่าฝืนต่อข้อบังคับของบริษัทจำกัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 แล้ว ปรากฏว่ากฎหมายสองมาตรานี้บัญญัติข้อความทำนองเดียวกัน กรณีร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันฝ่าฝืนต่อข้อบังคับของบริษัทจำกัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 นั้น ศาลฎีกาเคยพิพากษาไว้เป็นแบบอย่างแล้วว่า อาจทำเป็นคำร้องขออย่างคดีไม่มีข้อพิพาทก็ได้ ไม่จำเป็นต้องฟ้องร้องเป็นคดีมีข้อพิพาท เมื่อมีการดำเนินคดีอย่างคดีไม่มีข้อพิพาทกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดหรือทั้งหมดซึ่งมีส่วนได้เสียในผลของการประชุมใหญ่นั้นย่อมมีสิทธิร้องคัดค้านเข้ามาเกี่ยวข้องในคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 188 สิทธิที่จะคัดค้านใช่จะมีอยู่แต่เฉพาะบริษัทซึ่งมีการประชุมใหญ่เท่านั้นไม่ ปรากฏตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1537/2514 คดีระหว่างพันตำรวจตรีมงคล นุตประพันธ์ โจทก์บริษัทซีไซด์เอนเตอร์ไพรซ์ จำกัด จำเลย นายภิรมย์ กมลงาม กรรมการผู้จัดการกับพวก ผู้ร้องสอดตามนัยคำพิพากษาฎีกาดังกล่าว ศาลฎีกาจึงเห็นว่า กรณีร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติอันฝ่าฝืนต่อข้อบังคับของสมาคมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1291 ก็อาจทำเป็นคำร้องขออย่างคดีไม่มีข้อพิพาทโดยไม่จำต้องฟ้องสมาคมเป็นจำเลยก็ได้เช่นกัน คดีนี้โจทก์มิได้เริ่มต้นคดีด้วยการร้องขออย่างคดีไม่มีข้อพิพาท แต่ฟ้องร้องเป็นคดีมีข้อพิพาทโดยฟ้องคณะกรรมการบริหารสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ทั้ง 14 คนเป็นจำเลยและขอให้จำเลยเพิกถอนมติที่ฝ่าฝืนข้อบังคับของสมาคมนั้นเสียตามคำฟ้องระบุว่าจำเลยทั้ง 14 คนโดยตำแหน่งเป็นคณะกรรมการบริหารสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยโดยเฉพาะระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นนายกสมาคมและได้ระบุว่าคณะกรรมการบริหารทั้ง 14 คน มีหน้าที่รับผิดชอบบริหารกิจการตามวัตถุประสงค์ของสมาคมตามข้อบังคับที่ 28 และ 32 ข. ทั้งได้ระบุด้วยว่า คณะกรรมการบริหารสมาคมชุดนี้ประกอบด้วยจำเลยทั้ง 14 คน ได้ลงมติเสียงข้างมากโดยฝ่าฝืนต่อข้อบังคับของสมาคมอีกด้วย อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในฐานที่โจทก์เป็นสมาชิกของสมาคม โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้ง 14 คนในฐานะที่จำเลยเป็นคณะกรรมการบริหารสมาคมผู้รับผิดชอบกิจการของสมาคม ให้เพิกถอนมติโดยฝ่าฝืนต่อข้อบังคับของสมาคมได้ โจทก์หาจำต้องฟ้องสมาคมเป็นจำเลยด้วยไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยอ้างว่าโจทก์จำต้องฟ้องสมาคมเป็นจำเลยและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยเป็นส่วนตัวได้นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา

ในชั้นอุทธรณ์ปรากฏว่า จำเลยอุทธรณ์ข้อเดียวว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาเกินคำขอของโจทก์เท่านั้น ส่วนคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ว่า มติคณะกรรมการบริหารสมาคมที่ให้ผ่อนผันค่าบำรุงแก่สมาชิกเป็นการขัดต่อระเบียบข้อบังคับของสมาคมนั้น จำเลยไม่ได้อุทธรณ์คัดค้าน คำวินิจฉัยดังกล่าวของศาลชั้นต้นจึงเป็นอันยุติ สำหรับปัญหาที่จำเลยอุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นพิพากษาเกินคำขอของโจทก์นั้น ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวน ในปัญหาข้อนี้จำเลยกล่าวในคำฟ้องอุทธรณ์ว่า คำขอของโจทก์ระบุเจาะจงให้จำเลยเพิกถอนมติ แต่ศาลชั้นต้นกลับพิพากษาให้เพิกถอนมติของสมาคมซึ่งเป็นบุคคลอีกคนหนึ่งต่างหากจากตัวจำเลย จึงเป็นการเกินคำขอของโจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้คำขอของโจทก์ระบุเจาะจงให้จำเลยเพิกถอนมติก็ตาม แต่สภาพแห่งการบังคับอาจไม่เปิดช่องให้ทำเช่นนั้นได้ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้เพิกถอนมตินั้นเสีย โดยไม่ต้องบังคับจำเลยก็ได้ ทั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1291 ก็บัญญัติให้ศาลเพิกถอนมตินั้นเสียโดยไม่ต้องบังคับให้บุคคลเพิกถอน ฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนมติของสมาคมโดยไม่ได้บังคับจำเลย จึงไม่เป็นการเกินคำขอของโจทก์

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share