แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ทายาทด้วยกันต่างโต้แย้งคัดค้านการประกาศรับมรดกที่ดินของซึ่งกันและกันเจ้าพนักงานที่ดินจึงเปรียบเทียบ ซึ่งเป็นการปฏิบัติการตาม พ.ร.บ.การออกโฉนดที่ดิน ร.ศ.127 มาตรา 52 โดยสั่งให้ลงชื่อทายาทบางคนลงในโฉนดแปลงหนึ่ง และสั่งให้ลงชื่อทายาทอื่นลงในโฉนดอีกแปลงหนึ่ง และให้ฝ่ายที่ไม่พอใจไปฟ้องศาลภายใน 30 วัน เมื่อถึงกำหนดไม่มีใครไปฟ้องร้อง เจ้าพนักงานที่ดินจึงได้ลงชื่อทายาทในโฉนดไปตามที่ได้สั่งแล้วนั้น ดังนี้ จะถือว่าทายาทคนที่ไม่ถูกลงชื่อในโฉนดได้สละมรดกส่วนของตนในโฉนดนั้นยังไม่ได้ และจะว่าเป็นการปรานีประนอมยอมความก็ไม่ได้ ทายาทผู้ไม่ถูกลงชื่อในโฉนดนั้น ย่อมมีสิทธิมาฟ้องขอแบ่งที่ดินนั้นต่อศาลได้ภายในกำหนดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดาแต่ต่างมารดากัน เมื่อบิดาตายแล้วมีทรัพย์เหลือจากจำหน่ายโดยพินัยกรรม คือที่ดินโฉนดที่ ๓๘๓๖ และ ๓๘๓๗ โจทก์ขอส่วนแบ่งแต่จำเลยไม่ยอม จึงต้องขอให้ศาลบังคับ
จำเลยให้การต่อสู้ว่า เมื่อบิดาถึงแก่กรรมแล้ว ได้ขอประกาศรับมรดกกัน และต่างได้คัดค้านซึ่งกันและกัน เจ้าพนักงานที่ดินทำการเปรียบเทียบแล้ว โจทก์ยินยอมแล้ว จะมาฟ้องไม่ได้
ศาลชั้นต้นเห็นว่า เมื่อทางเจ้าพนักงานที่ดินเปรียบเทียบแล้ว สั่งให้ลงชื่อโจทก์ที่ ๒ กับจำเลยในโฉนดที่ ๓๘๓๖ และลงชื่อในโจทก์ที่ ๑ กับจำเลยในโฉนดที่ ๓๘๓๗ และสั่งให้ฝ่ายที่ไม่พอใจไปฟ้องภายใน ๓๐ วัน ถึงกำหนดไม่มีการฟ้องร้อง ทางหอทะเบียนจึงจัดการลงชื่อในโฉนดดังกล่าว โจทก์หาได้โต้แย้งไม่ เพิ่งจะมาฟ้องคดีนี้หลังจากเจ้าพนักงานเปรียบเทียบ ๑๐ เดือนแล้ว แสดงว่าโจทก์ยินยอมตามคำเปรียบเทียบแล้ว เท่ากับโจทก์ได้สละสิทธิในที่พิพาทแล้ว จึงไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้อง จึงพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การสละมรดกนั้นต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือทำเป็นสัญญาปรานีประนอมยอมความ แต่ตามเรื่องในคดีนี้ไม่+เป็นการสละมรดกหรือตกลงแบ่งมรดกกัน โจทก์ยังมีสิทธิในที่ดินรายพิพาทอยู่ จึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาในประเด็นข้ออื่นต่อไป
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่เจ้าพนักงานที่ดินปฏิบัติการตามพ.ร.บ.การออกโฉนดที่ดิน ร.ศ.๑๒๗ มาตรา ๕๒ สั่งให้ลงชื่อโจทก์ที่ ๑ และจำเลยในโฉนดเลข ๓๘๓๗ และลงชื่อโจทก์ที่ ๒ กับจำเลยในโฉนดเลข ๓๘๓๖ และให้ฝ่ายที่ไม่พอใจไปฟ้องภายใน ๓๐ วัน เมื่อถึงกำหนดไม่มีใครไปฟ้องร้องเจ้าพนักงานจึงได้ลงชื่อโจทก์จำเลยเป็นผู้รับมรดกนั้น จะแปลว่าโจทก์ที่ ๒ ได้สละมรดกส่วนของตนในโฉนดที่ ๓๘๓๗ และโจทก์ที่ ๑ ได้สละมรดกส่วนของตนในโฉนดที่ ๓๘๓๖ ยังไม่ได้และจะว่าเป็นการประนีประนอมยอมความก็ไม่ได้เช่นเดียวกันคดีควรได้รับการวินิจฉัยในประเด็นโต้เถียงข้ออื่นต่อไป จึงพิพากษายืน