คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7917/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการขาดความระมัดระวังของผู้เสียหายซึ่งถือว่ามีเหตุอื่นอันเป็นเหตุบรรเทาโทษ จึงลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนมานั้น เห็นว่า การที่ผู้เสียหายเป็นพนักงานธนาคาร จำต้องทำยอดลูกค้าบัตรเครดิตให้ได้ตามที่ธนาคารกำหนด จึงยอมไปเที่ยวและร่วมรับประทานอาหารกับจำเลยเพราะผู้เสียหายเคยรับปากจำเลยไว้ จึงไม่อยากเสียคำพูดกับลูกค้า และในที่สุดยอมขึ้นไปที่ห้องพักบนอพาร์ตเมนต์ที่เกิดเหตุตามคำคะยั้นคะยอของจำเลยเป็นเหตุให้ถูกจำเลยใช้อาวุธปืนพูดขู่เข็ญและใช้กำลังบังคับข่มขืนกระทำชำเราจนสำเร็จความใคร่นั้น พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าว หาใช่กรณีที่จะถือได้ว่าสาเหตุแห่งการกระทำความผิดของจำเลยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการขาดความระมัดระวังตัวของผู้เสียหาย อันจะถือว่ามีเหตุอื่นที่ศาลเห็นว่ามีเหตุอันควรปรานีลักษณะทำนองเดียวกับเหตุอื่น ๆ ที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 78 ไม่ อย่างไรก็ตามเมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาก็ไม่อาจพิพากษาแก้เป็นไม่ลดโทษให้แก่จำเลยตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276, 371, 392 และพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสาม และมาตรา 392 เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 276 วรรคสาม ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 15 ปี แต่การกระทำผิดของจำเลยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการขาดความระมัดระวังตัวของผู้เสียหายอันถือว่ามีเหตุอื่น อันเป็นการบรรเทาโทษจำเลย ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 7 ปี 6 เดือน ส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 และพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ด้วยอีกสถานหนึ่ง ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวมโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วเป็นจำคุก 7 ปี 18 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของจำเลยที่ว่า จำเลยกับผู้เสียหายมีเพศสัมพันธ์กันด้วยความสมัครใจ จำเลยไม่ได้ใช้อาวุธปืนข่มขู่ผู้เสียหาย ระหว่างอยู่ด้วยกันผู้เสียหายมีโอกาสที่จะหลบหนีหรือหลีกเลี่ยงได้ และผู้เสียหายไม่ได้ร้องขอความช่วยเหลือแต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์มีข้อพิรุธสงสัยหลายประการจึงไม่มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 นั้น เห็นว่า เป็นฎีกาที่เมื่อพิจารณาฎีกาทั้งฉบับแล้วกรณีไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงผลตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฎีกาของจำเลยจึงไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณา ศาลฎีกาไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 219 วรรคสอง และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การกระทำผิดของจำเลยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการขาดความระมัดระวังของผู้เสียหาย ซึ่งถือว่ามีเหตุอื่นอันเป็นเหตุบรรเทาโทษจึงลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามมานั้น เห็นว่า การที่ผู้เสียหายเป็นพนักงานธนาคาร จำต้องทำยอดลูกค้าบัตรเครดิตให้ได้ตามที่ธนาคารกำหนด จึงยอมไปเที่ยวและร่วมรับประทานอาหารกับจำเลยเพราะผู้เสียหายเคยรับปากจำเลยไว้ จึงไม่อยากเสียคำพูดกับลูกค้า และในที่สุดยอมขึ้นไปที่ห้องพักบนอพาร์ตเมนต์ที่เกิดเหตุตามคำคะยั้นคะยอของจำเลยเป็นเหตุให้ถูกจำเลยใช้อาวุธปืนพูดขู่เข็ญ และใช้กำลังบังคับข่มขืนกระทำชำเราจนสำเร็จความใคร่นั้นพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าว หาใช่กรณีที่จะถือได้ว่าสาเหตุแห่งการกระทำความผิดของจำเลยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการขาดความระมัดระวังตัวของผู้เสียหาย อันจะถือว่ามีเหตุอื่นที่ศาลเห็นว่ามีเหตุอันควรปรานีลักษณะทำนองเดียวกับเหตุอื่น ๆ ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ไม่ อย่างไรก็ตาม เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อนี้ศาลฎีกาก็ไม่อาจพิพากษาแก้เป็นไม่ลดโทษให้แก่จำเลยตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความศาลฎีกา

Share