แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาค้ำประกันการเบิกเงินเกินบัญชีที่ผู้ค้ำประกันยอมเข้าค้ำประกันการชำระหนี้รวมทั้งดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งลูกหนี้ค้างชำระ ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้จนกว่าธนาคารโจทก์จะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิงนั้นเมื่อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีมีวงเงิน 200,000 บาทผู้ค้ำประกันย่อมต้องรับผิดตามสัญญาในวงเงิน 200,000 บาท รวมทั้งดอกเบี้ยจนกว่าธนาคารโจทก์จะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง มิใช่รับผิดเฉพาะเพียงในวงเงิน 200,000 บาทเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน 200,000บาท กำหนดชำระคืนภายใน 12 เดือน และเพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้จำเลยที่ 2 ได้มอบสมุดบัญชีเงินฝากจำนวนเงิน 140,000 บาทให้โจทก์ยึดถือไว้เงินที่เบิกเกินบัญชีไปยอมให้ถือตามบัญชีกระแสรายวัน และยอมให้คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ได้เข้าค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 รวมทั้งดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ครั้นครบกำหนดสัญญาจะต้องชำระหนี้คืนจำเลยที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นจำนวน 379,790บาท 48 สตางค์ ต่อจากนั้นได้นำเงินมาผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยบ้าง จนกระทั่งวันที่ 11 พฤษภาคม 2521 จำเลยที่ 2 ยอมให้โจทก์นำเงินที่ฝากพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 143,255 บาท 29 สตางค์เข้าชำระหนี้ เมื่อหักทอนบัญชีแล้วจำเลยยังเป็นหนี้จำนวน 241,097 บาท 45 สตางค์ ต่อจากนั้นมิได้ชำระหนี้อีก ต้นเงิน 241,097 บาท 45 สตางค์ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง 37,570 บาท 54 สตางค์ รวม 278,667 บาท 99 สตางค์ ขอให้พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ดังกล่าว
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การต่อสู้คดี
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้จำนวน 278,667บาท 99 สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปีของเงิน 140,000 บาท และร้อยละ 15 ต่อปีของเงิน101,097 บาท 45 สตางค์ นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามสัญญาค้ำประกันเบิกเงินเกินบัญชีข้อ 1 มีความว่าเนื่องในการที่ธนาคารโจทก์ยอมให้ห้างจำเลยที่ 1 ซึ่งเรียกว่า ผู้เบิกเงินเกินบัญชี เบิกเงินจากธนาคารตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2519เป็นจำนวนเงิน 200,000 บาทนั้นผู้ค้ำประกันยอมเข้าค้ำประกันการชำระหนี้รวมทั้งดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งลูกหนี้ค้างชำระ ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนี้ ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีที่กล่าวแล้ว จนกว่าธนาคารโจทก์จะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง ดังนี้เห็นว่า ตามเอกสารดังกล่าวจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับผิดตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน200,000 บาท รวมทั้งดอกเบี้ยจนกว่าธนาคารโจทก์จะได้รับชำระโดยสิ้นเชิง มิใช่รับผิดเฉพาะเพียงในวงเงิน 200,000 บาทเท่านั้น และข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเพียงวันที่ 31 มีนาคม 2521 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ 380,240 บาท 20 สตางค์เมื่อนำเงินฝากและดอกเบี้ยของจำเลยที่ 2 จำนวน 143,255 บาท 29 สตางค์เข้าหักบัญชีเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2521 แล้วคงเหลือหนี้เป็นเงิน 241,097บาท 45 สตางค์ ดังนี้ กรณีจึงเป็นการนำเงินเข้าบัญชีหักทอนหนี้สินตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี หาใช่จำเลยที่ 2 ชำระหนี้จำนวน 143,255 บาท29 สตางค์ ในฐานะผู้ค้ำประกันอันจะให้ความรับผิดของจำเลยที่ 3 ลดน้อยลงไม่ เมื่อความรับผิดของจำเลยที่ 3 ตามสัญญาค้ำประกันมิได้จำกัดเฉพาะวงเงิน 200,000 บาท ดังวินิจฉัยข้างต้น และในชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 3ก็มิได้โต้เถียงว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยไม่ถูกต้องหรือไม่มีสิทธิเรียกร้อง ดังปรากฏตามที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นกล่าว จึงเป็นอันยุติว่าโจทก์คิดคำนวณมาถูกต้องกล่าวคือยอดหนี้ถึงวันฟ้องเป็นจำนวน 241,097 บาท 45 สตางค์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชำระเงินดังกล่าว แต่สำหรับดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ แยกเป็นอัตราร้อยละ 10 ต่อปีของเงิน 140,000 บาท และอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของเงิน 101,097 บาท 45 สตางค์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน