คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4550/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ขายทาวน์เฮาส์โดยให้ผู้ซื้อแต่ละรายทำสัญญา 2 ฉบับคือ ทำสัญญาจะซื้อขายบ้านและที่ดิน 1 ฉบับ และทำสัญญาจ้างบริษัท ม. ให้ตกแต่งบ้านอีก 1 ฉบับ ซึ่งความจริงไม่มีการตกแต่งแต่อย่างใด การที่โจทก์เสียภาษีการค้าโดยคำนวณราคาขายจากสัญญาจะซื้อขายบ้านอย่างเดียวจึงไม่ชอบ เจ้าพนักงานประเมินชอบที่จะราคาตามสัญญาจะซื้อขายบวกด้วยราคาค่าตกแต่งมาคิดคำนวณให้โจทก์เสียภาษีการค้าได้ โจทก์ทำสัญญาจะขายห้องชุดมอบให้กับผู้ที่จะซื้อ ข้อความในสัญญาที่ว่าผู้จะซื้อต้องวางมัดจำในวันทำสัญญา เป็นข้อความที่ทำให้โจทก์เสียเปรียบ จึงน่าเชื่อถือ ฟังได้ว่าโจทก์ได้รับเงินค่ามัดจำตามสัญญาจริง เมื่อโจทก์เสียภาษีไม่ถูกต้องเจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจทำการปรับปรุงรายได้และรายจ่ายของโจทก์ใหม่ อันทำให้ผลขาดทุนสุทธิของโจทก์เปลี่ยนแปลงไปคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ให้เปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้เพิกถอนการประเมินของจำเลยที่ 3 ตามแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้าเลขที่ใบแจ้งภาษีอากร 1041/3/05858ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2530 กับเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 3ที่ให้โจทก์นำผลขาดทุนหักจากกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีถัดไปตามหนังสือแจ้งการการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิ เลขที่กค.0823/5280 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2530 และเพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 5 ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 288/2530/1 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 287/2530/1
จำเลยที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ประเมินรายรับถูกต้องทั้งนี้โดยยึดถือเอาเอกสารหลักฐานต่าง ๆ รวมทั้งสัญญาจะซื้อขายในชั้นตรวจสอบและไต่สวนที่ได้จากโจทก์มาเป็นหลักในการคิดคำนวณตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรทุกประการ นอกจากนี้ในชั้นพิจารณาอุทธรณ์คณะกรรมการได้พิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่โจทก์อย่างยิ่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเลขที่ 287/2530/1 ฉบับ ลงวันที่3 เมษายน 2530 มีการเปลี่ยนแปลงขาดทุนสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2524 ถึง 30 พฤศจิกายน 2425จากที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งขาดทุนสุทธิจำนวน 582,260.30 บาทเป็น 797,529.95 บาท คำวินิจฉัยอุทธรณ์สั่งให้โจทก์ชำระยอดเงินภาษีการค้าเงินเพิ่ม เบี้ยปรับและภาษีบำรุงเทศบาลรวม107,142.66 บาท ซึ่งมียอดเงินต่ำกว่าชั้นเจ้าพนักงานประเมินเป็นคุณแก่โจทก์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่าการประเมินภาษีการค้าอันเกิดจากการขายทาวน์เฮาส์จำนวน 21 หลัง ของเจ้าพนักงานประเมิน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ขายทาวน์เฮาส์พร้อมที่ดินไปในราคาตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.7 และได้เสียภาษีการค้าไปตามราคานั้นถูกต้องแล้วปัญหาวินิจฉัยจึงอยู่ที่ว่าโจทก์ได้ขายทาวน์เฮาส์ไปในราคาที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.7 จริงหรือไม่ ปรากฏว่านอกจากโจทก์จะทำสัญญาขายทาวน์เฮ้าส์พร้อมที่ดินให้แก่ผู้ซื้อไปจำนวน 21 รายแล้ว ผู้ซื้อทั้งหมดยกเว้นนายสมศักดิ์ ว่องไวพาณิชย์ ยังได้ทำสัญญาว่าจ้างให้บริษัทมั่นคงการโยธา จำกัด ทำการตกแต่งทาวน์เฮาส์ดังกล่าวอีกด้วยตามเอกสารหมาย จ.8 ซึ่งนางสาววดี สุทธิเสงี่ยมเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีของสำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 3เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่าในชั้นตรวจสอบภาษีของโจทก์นั้นพยานได้มีหนังสือเรียกผู้ซื้อทาวน์เฮาส์ทั้ง 21 หลังมาให้ถ้อยคำมีผู้ซื้อ 2 รายมาให้ถ้อยคำ ซึ่งผู้ซื้อดังกล่าวให้ถ้อยคำว่าความจริงไม่ได้มีการจ้างบริษัทมั่งคงการโยธา จำกัด ให้ตกแต่งต่อเติมทาวน์เฮาส์ที่ซื้อแต่อย่างใด และนางสาวกนกวรรณตั้งจารีตสกุล เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี กองอุทธรณ์ภาษีอากรกรมสรรพากร เบิกความว่า ในชั้นพิจารณาอุทธรณ์พยานได้เรียกผู้ซื้อทาวน์เฮ้าส์มาให้การ 7 ราย พอสรุปได้ว่าผู้ซื้อไม่ได้ว่าจ้างบริษัทมั่นคงการโยธา จำกัด ทำการตกแต่งบ้านนอกเหนือไปจากแบบบ้านที่โจทก์ประกาศขาย แต่โจทก์ให้ผู้ซื้อแต่ละรายทำสัญญา2 ฉบับ โดยทำสัญญาซื้อบ้านและที่ดินจากโจทก์ฉบับหนึ่ง และทำสัญญาจ้างบริษัทมั่งคงการโยธา จำกัด ให้ตกแต่งบ้านอีกฉบับหนึ่งซึ่งความจริงไม่มีการตกแต่งเพิ่มเติมแต่อย่างใด ดังปรากฏตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย ล.2 อันดับ 19, 29, 43 และ 45 เห็นว่าผู้ซื้อทาวน์เฮาส์ที่มาให้การตามเอกสารดังกล่าวล้วนแต่เป็นผู้ซื้อทาวน์เฮาส์จากโจทก์ ซึ่งไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์ ทั้งไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับคดี จึงเชื่อว่าให้การด้วยความเป็นความจริง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์ได้ขายทาวน์เฮาว์เฮาส์ให้แก่ผู้ซื้อในราคาตามสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.7 บวกด้วยราคาค่าตกแต่งต่อเติมสัญญาเอกสารหมาย จ.8 ดังนั้นการที่โจทก์เสียภาษีการค้าโดยคำนวณราคาขายจากสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมายจ.7 จึงไม่ถูกต้อง การที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินรายรับของโจทก์ตามหลักเกณฑ์ในการคำนวณเพื่อตรวจสอบของกรมสรรพากรซึ่งยังต่ำกว่าราคาซื้อขายจริง จึงเป็นคุณแก่โจทก์อยู่แล้วการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งได้แก้ไขข้อผิดพลาดของเจ้าพนักงานประเมินให้โจทก์รับผิดเกี่ยวกับภาษีอันเกิดจากการขายทาวน์เฮาส์ของโจทก์ต่ำลงอีกจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อที่สองว่าการประเมินภาษีการค้าอันเกิดจากการการรับเงินมัดจำห้องชุดของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบหรือไม่ ปรากฏตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดเอกสารหมายล.1 แผ่นที่ 288 ถึง 410 ว่า ผู้จะซื้อต้องวางเงินมัดจำให้แก่โจทก์ในวันทำสัญญาทุกราย เห็นว่า เอกสารดังกล่าวเป็นสัญญาที่โจทก์ทำไว้กับผู้ขายซื้ออาคารชุด หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นหนังสือสัญญาดังกล่าวก็จะใช้เป็นพยานหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีจึงนับว่าเป็นเอกสารสำคัญ และสัญญาดังกล่าวจัดทำเป็นแบบพิมพ์ที่โจทก์เป็นฝ่ายจัดทำขึ้นเอง ถ้าหากไม่มีการรับเงินค่ามัดจำในวันทำสัญญากันจริงแล้ว เหตุใดโจทก์จะยอมระบุในสัญญานั้นว่าผู้จะซื้อต้องวางเงินมัดจำในวันทำสัญญาให้เป็นการเสียเปรียบแก่โจทก์ โจทก์ประกอบธุรกิจการค้าเกี่ยวกับการขายบ้านและที่ดินต้องทราบดีว่าการระบุไว้ในสัญญาเช่นนั้นย่อมเป็นหลักฐานแสดงว่าโจทก์ได้รับเงินค่ามัดจำไว้แล้ว ฉะนั้นที่โจทก์นำสืบอ้างว่าความจริงยังมิได้มีการจ่ายเงินค่ามัดจำกันในวันทำสัญญาจึงไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟัง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้รับเงินค่ามัดจำตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 288ถึง 410 ตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาแต่ละฉบับในวันทำสัญญานั้นซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าจากเงินดังกล่าว แต่โจทก์ยื่นแบบเพื่อเสียภาษีต่ำกว่าความเป็นจริง เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินให้โจทก์เสียภาษีให้ถูกต้องได้ ดังนั้นการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินซึ่งแก้ไขโดยคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อสุดท้ายมีว่า การที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้เปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิของโจทก์ชอบหรือไม่ เมื่อได้วินิจฉัยข้างต้นแล้วว่า โจทก์เสียภาษีไม่ถูกต้องเจ้าพนักงานประเมิน และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอำนาจทำการปรับปรุงรายได้และรายจ่ายของโจทก์ใหม่เช่นนี้แล้ว ย่อมทำให้ผลขาดทุนสุทธิของโจทก์เปลี่ยนแปลงไป คำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ให้เปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิของโจทก์ให้เป็นไปตามความเป็นจริงจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share