แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีอากรจากการประเมินของโจทก์ซึ่งถึงที่สุดแล้วเป็นจำนวนเงิน 3,094,123.24 บาท ต่อมาโจทก์ตรวจพบและทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาเป็นเงินประมาณ384,610 บาท ซึ่งจำเลยที่ 2 ยังมิได้ชำระให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์จึงให้นายอำเภอเมืองนครปฐมมีหนังสือแจ้งอายัดหนี้ดังกล่าวไปยังจำเลยทั้งสองและเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยห้ามจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ค่าภาษีอากรให้โจทก์และไม่ยอมบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 ให้ชำระหนี้ตามคำพิพากษา ทั้งจำเลยที่ 2 ก็ไม่ยอมชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 และแก่โจทก์ แต่ก่อนฟ้องคดีนี้จำเลยที่ 1 ตกเป็นลูกหนี้จำเลยที่ 2ตามคำพิพากษาเป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้นประมาณ 214,750 บาท จำเลยที่ 2จึงยื่นคำให้การขอหักกลบลบหนี้ตามคำพิพากษาคดีทั้งสองดังกล่าวในคดีนี้ ดังนี้เมื่อจำเลยทั้งสองต่างเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดแล้วซึ่งกันและกันและเป็นหนี้เงินเหมือนกัน ทั้งเป็นหนี้ที่ถึงกำหนดจะชำระแล้วด้วยกันจึงเป็นหนี้ที่สามารถนำมาหักกลบลบกันได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 341 การที่โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีอากรที่จะต้องชำระให้โจทก์ แต่จำเลยที่ 1ไม่ใช้สิทธิบังคับเอาแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ จึงขอใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ในนามของโจทก์เพื่อบังคับเอาแก่จำเลยที่ 2 เช่นนี้ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 233 ซึ่งตามมาตรา 236 จำเลยมีข้อต่อสู้ลูกหนี้เดิมอยู่อย่างใด ๆ ย่อมจะยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ทั้งนั้น เว้นแต่ข้อต่อสู้ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อยื่นฟ้องแล้ว ในคดีนี้ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้จำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 2 จึงยกข้อต่อสู้ที่มีอยู่กับจำเลยที่ 1ขึ้นต่อสู้โจทก์ โดยขอหักกลบลบหนี้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 341 และ 342 ได้