คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17440/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 3 ขับรถบรรทุกเฉี่ยวชนรถโดยสารของโจทก์ได้รับความเสียหายแม้ขณะเกิดเหตุเป็นเวลา 20 นาฬิกา แต่จำเลยที่ 1 ยังคงสวมใส่ชุดทำงาน ในวันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 3 ไปพบพนักงานสอบสวนกับจำเลยที่ 1 โดยมิได้ปฏิเสธความรับผิดว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 แต่กลับยอมรับต่อตัวแทนฝ่ายโจทก์และพนักงานสอบสวนว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และยังร่วมเจรจาต่อรองค่าเสียหายโดยไม่ได้แจ้งหรือแสดงพฤติการณ์ใดให้เห็นว่าเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 แสดงว่าจำเลยที่ 2 รับโดยปริยายแล้วว่าการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำในทางการที่จ้างซึ่งจำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการที่ยินยอมเสนอเงินชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นเพียงลูกจ้างรายวันและขณะเกิดเหตุจะล่วงเลยเวลาทำงานตามปกติของจำเลยที่ 1 แล้วก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและเมื่องานที่ทำเป็นกิจการของนายจ้าง จึงเป็นการปฏิบัติงานในทางการที่จ้างที่จำเลยที่ 3 ในฐานะนายจ้าง และจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกโดยไม่จำกัดความรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ห้างก่อให้เกิดขึ้นด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 247,996.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 240,581 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ 90,581 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีโดยกำหนดค่าทนายความให้ 8,000 บาท
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ขับรถบรรทุก หมายเลขทะเบียน บง – 6846 หนองบัวลำภู ด้วยความประมาทเลินเล่อเฉี่ยวชนรถโดยสาร หมายเลขทะเบียน 10 – 1759 เลย ของโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 90,581 บาท สำหรับคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 หรือไม่ และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วยหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า แม้ขณะเกิดเหตุเป็นเวลา 20 นาฬิกา แต่จำเลยที่ 1 ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ และการที่จำเลยที่ 2 มาเจรจาชดใช้ค่าเสียหายต่อพนักงานสอบสวนย่อมแสดงว่ายอมรับว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ด้วย โจทก์มีนายสมศักดิ์และนายสงกรานต์ คนขับรถโดยสารและพนักงานเก็บเงินค่าโดยสารของโจทก์เบิกความทำนองเดียวกันว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 แต่งตัวลักษณะเป็นช่างก่อสร้าง เนื่องจากบริเวณเนื้อตัวและเสื้อผ้ามีเศษปูนติดอยู่ไม่มีอาการเมาสุรา ส่วนรถบรรทุกของจำเลยที่ 1 มีลักษณะเป็นรถที่ใช้ในการขนวัสดุก่อสร้าง จำเลยที่ 2 บอกนายสมศักดิ์ นายสงกรานต์ และนายจิระชัยพยานโจทก์อีกปากหนึ่งที่อยู่ร่วมในการเจรจาค่าเสียหายที่สถานีตำรวจว่า จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และได้เสนอราคาชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เพียง 10,000 บาท จึงตกลงกันไม่ได้ ทั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระเงินค่าปรับแทนจำเลยที่ 1 ด้วย นายจิระชัยยังเบิกความตอบคำถามค้านว่าขณะเจรจาได้ยินจำเลยที่ 1 พูดว่านายจ้างให้มาเอาของที่อำเภอภูกระดึงเพื่อไปส่งที่ผานกเค้า ส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 อ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างรายวันของจำเลยที่ 3 ทำหน้าที่เป็นช่างไม้และช่างปูน มีรถจักรยานยนต์ใช้ขับไปกลับที่ทำงาน เริ่มทำงานเวลา 8 ถึง 17 นาฬิกา รถบรรทุกคันเกิดเหตุ เป็นของจำเลยที่ 3 ที่ให้นายสุดตาเป็นผู้ขับรับส่งพนักงานและเก็บรักษาที่บ้านของนายสุดตา ในวันเกิดเหตุ รถคันดังกล่าวจอดไว้โดยมีกุญแจรถเสียบคาอยู่ จำเลยที่ 1 ขับรถคันดังกล่าวไปโดยพลการ เงินค่าปรับที่จำเลยที่ 2 จ่ายแทนจำเลยที่ 1 ไป 400 บาท ได้หักจากค่าจ้างของจำเลยที่ 1 แล้ว และการที่จำเลยที่ 2 มาเจรจาค่าเสียหายเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนจำเลยที่ 1 และจะหักค่าปรับจากค่าจ้างของจำเลยที่ 1 ในภายหลังนั้น มีแต่จำเลยที่ 2 และนายสุดตาเป็นพยานเบิกความลอย ๆ ซึ่งจะเบิกความอย่างไรก็ได้ เพราะเป็นเรื่องที่มีแต่จำเลยทั้งสามและพยานจำเลยทั้งสามเท่านั้นที่จะรู้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ อีกทั้งจำเลยที่ 1 จะทำงานล่วงเวลาหรือได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการให้ทำการงานในทางการที่จ้างหรือไม่นั้น เป็นเรื่องกิจการภายในที่อยู่ในความรู้เห็นของฝ่ายจำเลยที่มีความสัมพันธ์กันในฐานะนายจ้างลูกจ้างเท่านั้นยากที่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและเข้ามาเกี่ยวข้องหลังเกิดเหตุแล้วจะล่วงรู้ถึงการใช้จ้างวานและการปฏิบัติงานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายก่อนเกิดเหตุได้ ประกอบกับข้ออ้างดังกล่าวของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังขัดแย้งกับพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่แสดงออกต่อบุคคลภายนอก เพราะจำเลยที่ 1 ยังคงสวมใส่ชุดทำงานอยู่ในขณะเกิดเหตุ ทั้งในวันรุ่งขึ้น จำเลยที่ 2 ก็ไปพบพนักงานสอบสวนกับจำเลยที่ 1 ด้วยโดยมิได้ปฏิเสธความรับผิดว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 แต่กลับยอมรับต่อตัวแทนฝ่ายโจทก์และพนักงานสอบสวนในขณะนั้นว่า จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ตามข้อความที่ปรากฏในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี และยังร่วมเจรจาต่อรองค่าเสียหายกับตัวแทนฝ่ายโจทก์โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้แจ้งหรือแสดงพฤติการณ์ใดให้เห็นว่าเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ดังที่กล่าวอ้าง แสดงว่าจำเลยที่ 2 รับโดยปริยายแล้วว่าการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำในทางการที่จ้างซึ่งจำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการที่ยินยอมเสนอเงินชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นเพียงลูกจ้างรายวัน และขณะเกิดเหตุจะล่วงเลยเวลาทำงานตามปกติของจำเลยที่ 1 แล้วก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและเมื่องานที่ทำเป็นกิจการของนายจ้าง จึงเป็นการปฏิบัติงานในทางการที่จ้าง ที่จำเลยที่ 3 ในฐานะนายจ้าง และจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกโดยไม่จำกัดความรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ห้างก่อให้เกิดขึ้นด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share