แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศของกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมค่าเช่าตาม พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า 2489 ลงวันที่ 19 มี.ค. 89 นั้น ไม่ได้ให้อำนาจกรรมการที่จะส่งผู้แทนเข้าประชุมได้ ถ้าคณะกรรมการตามประกาศฉะบับนี้ได้ประชุมกันโดยกรรมการบางคนส่งตัวแทนมาประชุมดังนี้ แม้การประชุมนั้นจะมีตัวกรรมการมาไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งถือเป็นองค์ประชุมตาม พ.ร.บ. ควบคุมค่าเช่า พ.ศ. 2489 ได้ก็ตาม แต่เมื่อผู้แทนกรรมการซึ่งไม่ใช่กรรมการได้เข้าประชุมด้วยแล้ว การประชุมนั้นก็ใช้ไม่ได้ มติของการประชุมย่อมตกเป็นโมฆะ.
ย่อยาว
คดี ๒ สำนวนนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลแสดงว่า มติของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๘ ที่ออกในฐานะเป็นกรรมการควบคุมค่าเช่า ยอมให้จำเลยที่ ๘ เข้าอยู่อาศรัยในห้องที่โจทก์เช่าเป็นโมฆะ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า มติเช่นว่านั้นเป็นโมฆะ
จำเลยที่ ๘ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า กระทรวงมหาดไทยได้แต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมค่าเช่าตาม พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า พ.ศ. ๒๔๘๙ ขึ้น ๗ นายตามประกาศลงวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๔๘๙ ต่อมาได้มีประกาศตั้งใหม่ลงวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๔๙๐ มีเติมคำว่า “หรือผู้แทน” เพื่อให้กรรมการตั้งผู้แทนไปประชุมได้ การประชุมของคณะกรรมการที่ลงมติอันเป็นข้อพิพาทในคดีนี้ เป็นคณะกรรมการตามประกาศฉะบับแรก แต่การประชุมนั้นประกอบด้วยตัวกรรมการซึ่งมาประชุมเองก็มี กรรมการบางคนส่งตัวแทนมาประชุมก็มี ศาลฎีกาเห็นว่า ตัวแทนกรรมการหาใช่กรรมการตามประกาศฉะบับแรก แม้การประชุมนั้นจะมีตัวกรรมการมาไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งซึ่งพอจะถือเป็นองค์ประชุมตาม พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้ แต่เมื่อผู้ไม่ใช่กรรมการได้เข้าประชุมแล้ว การประชุมนั้นก็ใช้ไม่ได้
พิพากษายืน