แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยกล่าวต่อเจ้าพนักงานตำรวจจราจรขณะกระทำการตามหน้าที่จับรถยนต์จำเลยฐานกีดขวางทางจราจรว่า “ลื้อชุ่ยมาก” เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 แล้ว
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจกล่าวคำหมิ่นประมาทพลตำรวจดำรงค์ แก้ววิเศษ เจ้าพนักงานตำรวจจราจรขณะกระทำการตามหน้าที่จับรถยนต์จำเลยฐานกีดขวางทางจราจรว่า “ลื้อชุ่ยมาก” ข้อหาจอดรถกีดขวางการจราจรเจ้าพนักงานเปรียบเทียบปรับเสร็จไปแล้ว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๖
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลแขวงพระนครใต้พิพากษาว่า คำว่า “ชุ่ย” ที่จำเลยกล่าวนั้น พจนานุกรมแปลว่า เสือกให้ ไสไป ทำหวัด ๆ ทำมักง่าย จึงเป็นถ้อยคำไม่สุภาพเล็กน้อย ไม่ถึงกับเป็นการดูหมิ่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๖ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ในการที่บุคคลกล่าวถ้อยคำใดจะมีความหมายอย่างใดนั้น ต้องแล้วแต่พฤติการณ์แวดล้อมประกอบด้วยความมุ่งหมายให้เข้าใจไปในทางใด แม้ถ้อยคำนั้น ตามพจนานุกรมจะมีความหมายในทางดี ผู้กล่าวก็อาจกล่าวให้ผู้ฟังรู้ได้ว่าเป็นคำประชดหรือมีความหมายในทางชั่วได้ เช่น ผู้กล่าวตั้งใจกล่าวประชดโดยใช้ถ้อยคำว่า แหมทำดีเหลือเกินนะ ถ้อยคำดังกล่าวนี้ตามพจนานุกรมล้วนแต่เป็นถ้อยคำชมเชยในทางที่ดี แต่ผู้กล่าวและผู้ฟังย่อมเข้าใจได้ว่าเป็นคำกล่าวประชดและเป็นคำกล่าวในทางไม่ดี ฉะนั้น เมื่อพิเคราะห์คำฟ้องและคำรับสารภาพของจำเลยแล้วเห็นได้ว่า ตามพฤติการณ์ประกอบกับถ้อยคำที่จำเลยกล่าวมิใช่เป็นเพียงแต่กล่าวถ้อยคำไม่สุภาพต่อเจ้าพนักงาน แต่เป็นการกล่าวแสดงการดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๖ ส่วนการดูหมิ่นนั้น จะหนักเบาเพียงใดเป็นอีกกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๖ วางโทษปรับ ๑๐๐ บาท ลดรับสารภาพกึ่งหนึ่งตามมาตรา ๗๘ ปรับ ๕๐ บาท ไม่ชำระจัดการตามมาตรา ๒๙,๓๐