แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยให้การว่า ระเบียบและคำสั่งของกระทรวงมหาดไทยขัดต่อพระราชกฤษฎีกาและปลัดกระทรวงก็ไม่มีอำนาจลงนามในระเบียบและคำสั่ง โดยหาได้ยกข้อเท็จจริงขึ้นกล่าวอ้างว่าขัดต่อพระราชกฤษฎีกาบทใดข้อใดและเหตุใดปลัดกระทรวงจึงไม่มีอำนาจลงนามนั้นถือว่าไม่มีประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยให้
จำเลยจะอ้างว่าไม่ต้องคืนลาภมิควรได้ก็ต่อเมื่อจำเลยเป็นผู้รับเงินไว้โดยสุจริตหากจำเลยเป็นผู้สั่งให้จ่ายเงินฝ่าฝืนระเบียบให้แก่ตนเองแล้ว ก็จะอ้างว่ารับเงินไว้โดยสุจริตมิได้ จำเลยจึงต้องคืนเงินที่รับเกินไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี จำเลยที่ 2ถึงที่ 5 ดำรงตำแหน่งเทศมนตรีเมืองอุบลราชธานี ได้สั่งให้ปลัดเทศบาลและสมุห์บัญชีเบิกจ่ายเงินเดือนให้แก่ตนเกินจากอัตราที่วางไว้ไปรวม 17,198 บาท โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีอำนาจและไม่มีสิทธิจะได้รับตามกฎหมาย เป็นการฝ่าฝืนพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล พ.ศ. 2486 มาตรา 11 และคำสั่งกระทรวงมหาดไทยตามหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ 104/2493 และตามหนังสือด่วนมากของกระทรวงมหาดไทยที่ 25956/2498 เพราะรายได้แท้จริงของเทศบาลเมืองอุบลราชธานี ปี พ.ศ. 2499 มีรายได้แท้จริงโดยหักเงินอุดหนุนจากรัฐบาลแล้วเป็นเงิน 925,280.67 บาท นายกเทศมนตรีจะได้ค่าป่วยการวันละ 15 บาท เทศมนตรีวันละ 8 บาทเท่านั้น จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยคืนเงินที่เบิกเกินไป
จำเลยที่ 1, 3, 4, 5 ให้การว่า เงินค่าป่วยการของนายกเทศมนตรีและเทศมนตรีได้จ่ายไปโดยถูกต้องตามพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาลทุกประการ แม้จะฟังว่าจำเลยรับเงินไปผิดระเบียบ แต่ก็กระทำไปโดยสุจริตตามหน้าที่อันชอบด้วยกฎหมาย ถือว่าเงินรายนี้เป็นลาภมิควรได้ซึ่งจำเลยใช้สอยไปหมดแล้ว ไม่ชอบที่โจทก์จะเรียกคืนสำหรับจำเลยที่ 2 นั้น ส่งสำเนาฟ้องให้ไม่ได้ โจทก์จึงขอถอนฟ้องศาลอนุญาต
ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นให้โจทก์นำสืบก่อนว่า การเบิกจ่ายเงินของจำเลยทั้ง 4 นั้นถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนหรือไม่ส่วนปัญหาข้อกฎหมายว่าคำสั่งกระทรวงมหาดไทยตามหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ 104/2493 และหนังสือด่วนมากที่ 25956/2498 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยทั้ง 4 จะต้องรับผิดร่วมกันหรือแยกกัน และโจทก์มีสิทธิเรียกเงินตามฟ้องหรือไม่ จะได้วินิจฉัยเมื่อคู่ความสืบพยานในประเด็นข้อแรกแล้ว
ในวันนัดสืบพยาน คู่ความแถลงร่วมกันว่า การเบิกจ่ายเงินของเทศบาลนั้น เบิกจ่ายตามเทศบัญญัติงบประมาณประจำปี ซึ่งตามระเบียบเทศบัญญัติงบประมาณประจำปีใหม่จะต้องจัดทำก่อนในปีเก่า ถ้าขัดข้องออกไม่ทันก็ให้ใช้เทศบัญญัติงบประมาณปีเก่าไปพลาง แล้วโจทก์จำเลยไม่ติดใจสืบพยานบุคคล คงอ้างแต่พยานเอกสาร
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยเบิกเงินค่าป่วยการเกิน ไม่ชอบด้วยระเบียบแบบแผน จำเลยอ้างว่าเงินที่รับเกินไปเป็นลาภมิควรได้และได้ใช้สอยหมดไปแล้ว แต่จำเลยไม่พิสูจน์ว่ารับไว้โดยสุจริต จึงพิพากษาให้จำเลยรับผิดเฉพาะส่วนของตนที่รับเกินไปแต่ละคน
จำเลยที่ 1, 3, 4, 5 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1, 3 และ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์คำให้การของจำเลยแล้ว จำเลยให้การเพียงว่าระเบียบหรือคำสั่งที่โจทก์อ้างนั้นขัดต่อพระราชกฤษฎีกา ทั้งคำสั่งของกระทรวงมหาดไทยทั้งสองฉบับก็ลงนามโดยปลัดกระทรวง หาใช้รัฐมนตรีไม่ ดังนี้ จึงแปลได้ว่าจำเลยรับว่ากระทรวงมหาดไทยได้วางระเบียบไว้ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่โจทก์อ้างจริง สู้แต่เพียงว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น การต่อสู้เช่นนี้เป็นการต่อสู้ในเรื่องระเบียบวิธีปฏิบัติราชการภายในของกระทรวงมหาดไทยที่มีต่อเทศบาลแต่จำเลยหาได้ยกข้อเท็จจริงกล่าวอ้างให้เป็นประเด็นว่า เหตุใดปลัดกระทรวงจึงไม่มีอำนาจลงนามในหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่โจทก์อ้าง และเป็นการขัดต่อพระราชกฤษฎีกาบทใด ข้อใด จริงอยู่ ข้อเท็จจริงบางอย่างศาลรับรู้ได้เอง แต่คู่ความจะต้องกล่าวอ้างข้อเท็จจริงให้ขัดเป็นประเด็นขึ้นมาในคดี แม้แต่ข้อกฎหมายที่ประสงค์ยกขึ้นต่อสู้ก็ต้องกล่าวอ้างเช่นเดียวกัน ฉะนั้นคำให้การของจำเลยจึงไม่เป็นประเด็นที่ศาลจะต้องยกขึ้นวินิจฉัย นัยฎีกาที่ 968/2495
ศาลฎีกาเห็นว่า หนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ 104/2493 และ 25956/2498เป็นพยานเอกสารรับฟังประกอบคำฟ้องของโจทก์ได้ว่ากระทรวงมหาดไทยได้วางระเบียบการจ่ายเงินค่าป่วยการของคณะเทศมนตรีคิดตามรายได้ประจำตามงบประมาณทั่วไปที่แท้จริงของเทศบาลเมืองอุบลราชธานีซึ่งนายกเทศมนตรีมีสิทธิได้ค่าป่วยการไม่เกินวันละ15 บาท เทศมนตรีได้ไม่เกินวันละ 8 บาท แต่จำเลยที่ 1 เบิกวันละ 20 บาท จำเลยที่ 3 ที่ 5 วันละ 10 บาทผิดไปจากระเบียบที่วางไว้ ฎีกาจำเลยจึงเป็นอันตกไป
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินคืนจากจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 412 นั้น เห็นว่า จำเลยอาจจะอ้างมาตรานี้ได้ ถ้าจำเลยเพียงแต่เป็นผู้รับเงินค่าป่วยการจากเทศบาลไว้โดยสุจริต แต่คดีนี้ จำเลยเป็นนายกเทศมนตรีและเทศมนตรีของเทศบาลเองและเป็นผู้สั่งให้เบิกเงินค่าป่วยการอันฝ่าฝืนระเบียบของกระทรวงมหาดไทยให้แก่ตนเอง จำเลยจะอ้างว่ารับเงินไว้โดยสุจริตมิได้ และการที่จำเลยสั่งเบิกจ่ายฝ่าฝืนระเบียบทำให้เทศบาลเสียหาย จำเลยก็ต้องรับผิดต่อเทศบาลในการคืนเงินที่เบิกเกินอยู่แล้ว จำเลยจะอ้างมาตรานี้เพื่อมิต้องคืนเงินที่จำเลยทำให้เทศบาลเสียหายหาได้ไม่
พิพากษายืน