คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1733/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 มาตรา 7 และมาตรา 39 กำหนดให้เทศบาลตำบลเมืองพลโจทก์เป็นทบวงการเมือง มีคณะเทศมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารกิจการของเทศบาลตามกฎหมาย โดยมีนายกเทศมนตรีเป็นหัวหน้า โจทก์จึงมีฐานะเป็นนิติบุคคลตาม ป.พ.พ.มาตรา 72 และนายกเทศมนตรีมีฐานะเป็นผู้แทนของโจทก์ตามที่กำหนดไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 75ที่จะแสดงให้ปรากฏซึ่งความประสงค์ของโจทก์ที่เป็นนิติบุคคล การฟ้องคดีนั้นเป็นการบริหารกิจการของเทศบาลอย่างหนึ่งซึ่งไม่มีบทบัญญัติใน พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 กำหนดไว้ในที่ใดว่าจะต้องมีการขออนุมัติผู้ใดก่อน นายกเทศมนตรีจึงมีอำนาจเป็นผู้แทนโจทก์ที่จะฟ้องคดีจำเลยได้ ในเมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย
โจทก์จำเลยได้มีข้อตกลงเป็นการตอบแทนกันให้จำเลยสร้างโรงภาพยนตร์ในที่ดินของโจทก์โดยให้โรงภาพยนตร์ตกเป็นของโจทก์ แต่จำเลยมีสิทธิเช่ามีกำหนด 20 ปี การที่มีข้อตกลงเป็นการตอบแทนกันดังกล่าวเป็นเรื่องของสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาข้อสัญญาต่างตอบแทนกันเช่นนี้ไม่มีบทกฎหมายกำหนดไว้ให้ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่คู่กรณีจึงต้องผูกพันกันตามสัญญาที่มีลักษณะต่างตอบแทน เมื่อระยะเวลาที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องมานั้นอยู่ในระยะเวลาที่จำเลยยังมีสิทธิใช้ประโยชน์ในโรงภาพยนตร์ตามสัญญา จำเลยก็ต้องมีหน้าที่ชำระค่าตอบแทนตามสัญญา การที่ข้อตกลงในสัญญาจะเรียกว่าเป็นค่าเช่าหรืออย่างไรนั้นไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงไปให้ข้อตกลงที่มีอยู่ต่อกันขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด ในเมื่อจำเลยไม่ชำระตามข้อตกลงโจทก์ก็มีสิทธิที่จะฟ้องให้จำเลยชำระได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงชื่อที่จะเรียกว่าเป็นค่าเช่าหรือค่าตอบแทนตามสัญญา

ย่อยาว

โจทก์
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยยกที่ดินให้โจทก์ มีเงื่อนไขว่าให้โจทก์สร้างโรงภาพยนตร์ให้จำเลยเช่า และโจทก์ได้สร้างโรงภาพยนตร์เสร็จ จำเลยทำสัญญาเช่าโรงภาพยนตร์โจทก์มีกำหนดเวลา ๒๐ ปี ค่าเช่าเดือนละ ๑๒,๕๐๐ บาท จำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่ารวม ๑๕ เดือน เป็นเงิน๑๘๗,๕๐๐ บาท ขอให้จำเลยชำระค่าเช่าจำนวน ๑๘๗,๘๐๐ บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อบละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ทำสัญญาเช่าโรงภาพยนตร์ตามฟ้องจริง แต่ไม่ได้จดทะเบียนการเช่า จำเลยไม่ได้ค้างชำระค่าเช่าตามฟ้อง เจ้าพนักงานของโจทก์ทุจริตเกี่ยวกับการเงินแล้วหลบหนีไป โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ได้รับอนุมัติจากสภาเทศบาลหรือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือกระทรวงมหาดไทย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๕๓๘ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๑๘๗,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.๒๔๙๖มาตรา ๗ และมาตรา ๓๙ กำหนดให้เทศบาลตำบลเมืองพลโจทก์เป็นทบวงการเมือง มีคณะเทศมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารกิจการของเทศบาลตามกฎหมาย โดยมีนายกเทศมนตรีเป็นหัวหน้า โจทก์จึงมีฐานะเป็นนิติบุคคลตาม ป.พ.พ. มาตรา ๗๒ และนายกเทศมนตรีมีฐานะเป็นผู้แทนของโจทก์ตามที่กำหนดไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา ๗๕ ที่จะแสดงให้ปรากฏซึ่งความประสงค์ของโจทก์ที่เป็นนิติบุคคล การฟ้องคดีนั้นเป็นการบริหารกิจการของเทศบาลอย่างหนึ่งซึ่งไม่มีบทบัญญัติใน พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.๒๔๙๖ กำหนดไว้ในที่ใดว่าจะต้องมีการขออนุมัติผู้ใดก่อน นายกเทศมนตรีจึงมีอำนาจเป็นผู้แทนโจทก์ที่จะฟ้องคดีจำเลยได้ ในเมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย
โจทก์จำเลยได้มีข้อตกลงเป็นการตอบแทนกันให้จำเลยสร้างโรงภาพยนตร์ในที่ดินของโจทก์โดยให้โรงภาพยนตร์ตกเป็นของโจทก์ แต่จำเลยมีสิทธิเช่ามีกำหนด ๒๐ ปีการที่มีข้อตกลงเป็นการตอบแทนกันดังกล่าวเป็นเรื่องของสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ข้อสัญญาต่างตอบแทนกันเช่นนี้ไม่มีบทกฎหมายกำหนดไว้ให้ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ คู่รณีจึงต้องผูกพันกันตามสัญญาที่มีลักษณะต่างตอบแทน เมื่อระยะเวลาที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องมานั้นอยู่ในระยะเวลาที่จำเลยยังมีสิทธิใช้ประโยชน์ในโรงภาพยนตร์ตามสัญญาการที่ข้อตกลงในสัญญาจะเรียกว่าเป็นค่าเช่าหรืออย่างไรนั้น ไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงไปให้ข้อตกลงที่มีอยู่ต่อกันขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด ในเมื่อจำเลยไม่ชำระตามข้อตกลงโจทก์ก็มีสิทธิที่จะฟ้องให้จำเลยชำระได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงชื่อที่จะเรียกว่าเป็นค่าเช่าหรือค่าตอบแทนตามสัญญา
พิพากษายืน.

Share