แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญารับผิดชดใช้ความเสียหายของ ก. ต่อโจทก์ แต่เมื่อโจทก์และ ก. ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับค่าเสียหายที่ ก. จะต้องรับผิด ความรับผิดของ ก. ที่เกิดจากสัญญารับผิดชดใช้ความเสียหายและความรับผิดของจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันจึงระงับสิ้นไป และทำให้ ก. ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 และ 852 เมื่อความรับผิดของ ก. ต่อโจทก์เปลี่ยนเป็นความรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วยเนื่องจากหนี้ของ ก. ตามสัญญารับผิดชดใช้ความเสียหายระงับสิ้นไปแล้วตามมาตรา 698
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นายกฤษณะ หนูเจริญ อดีตผู้จัดการร้านโจทก์ประจำสาขาพัทลุง 2 เก็บเงินค่าเช่าซื้อสินค้าจากลูกค้าแล้วไม่นำเงินส่งมอบให้แก่โจทก์จำนวน 270,908 บาท วันที่ 10 เมษายน 2540 นายกฤษณะทำสัญญายอมรับผิดขอผ่อนชำระค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ โดยมีจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ดังกล่าวโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับนายกฤษณะ จำเลยที่ 1 ชำระเงินดังกล่าวให้โจทก์ในวันทำสัญญาจำนวน 50,908 บาท ส่วนที่เหลือ จำนวน 220,000 บาท นายกฤษณะจะผ่อนชำระให้โจทก์เป็นรายเดือนๆ ละ 37,000 บาท ทุกวันที่ 10 ของเดือน โดยชำระงวดแรกวันที่ 10 พฤษภาคม 2540 จนกว่าจะครบจำนวนและยอมชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นายกฤษณะผิดนัดไม่ผ่อนชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2540 เป็นต้นมา โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามจำเลยทั้งสาม จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน จำนวน 220,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า หนี้ตามสัญญาใช้ค่าเสียหายระงับแล้วเพราะโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับนายกฤษณะในคดีที่โจทก์ฟ้องนายกฤษณะต่อศาลแรงงานกลาง จำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์กับนายกฤษณะทำสัญญาประนีประนอมยอมความทำให้มูลหนี้เดิมระงับไป จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดจากความรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์กับนายกฤษณะทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงลดยอดหนี้ให้นายกฤษณะในคดีแรงงานคงเหลือจำนวน 210,000 บาท โดยให้ผ่อนชำระเดือนละ 3,000 บาท ทุกวันที่ 15 ของเดือน อันเป็นการแปลงหนี้ใหม่ทำให้หนี้ตามหนังสือรับผิดชดใช้ความเสียหายดังกล่าวเป็นอันระงับไปและโจทก์บังคับคดีแรงงานแล้ว จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันมูลหนี้ตามหนังสือสัญญารับผิดชดใช้ความเสียหายจึงหลุดพ้นจากความรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมชำระเงิน จำนวน 220,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องคือวันที่ 7 ธันวาคม 2544 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2540 นายกฤษณะทำสัญญารับผิดชดใช้ความเสียหายให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.4 จำเลยทั้งสามทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญารับผิดชดใช้ความเสียหายตามเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.7 ต่อมานายกฤษณะผิดนัดชำระหนี้โจทก์จึงฟ้องนายกฤษณะและจำเลยทั้งสามต่อศาลแรงงานกลางแต่โจทก์ได้ถอนฟ้องจำเลยทั้งสามเนื่องจากคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลแรงงานกลางและได้มาฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ ส่วนโจทก์กับนายกฤษณะต่อมาได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลแรงงานกลางได้พิพากษาตามยอมแล้ว ตามเอกสารหมาย ล.5 และ ล.6 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่โจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับนายกฤษณะที่ศาลแรงงานกลางนั้น ทำให้ผลของสัญญาชดใช้ความเสียหายระงับไปและจำเลยทั้งสามพ้นความรับผิดไปด้วยหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องและนำสืบฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญารับผิดใช้ความเสียหายของนายกฤษณะต่อโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์และนายกฤษณะได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับค่าเสียหายที่นายกฤษณะจะต้องรับผิดความรับผิดของนายกฤษณะที่เกิดจากสัญญารับผิดชดใช้ความเสียหายและความรับผิดของจำเลยทั้งสามในฐานะผู้ค้ำประกันจึงระงับสิ้นไป และทำให้นายกฤษณะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 และ 852 เมื่อความรับผิดของนายกฤษณะต่อโจทก์เปลี่ยนเป็นความรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังนั้น จำเลยทั้งสามในฐานะผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญารับผิดชดใช้ความเสียหายจึงหลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วยเนื่องจากหนี้ของนายกฤษณะตามสัญญารับผิดชดใช้ความเสียหายระงับสิ้นไปแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.