แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ฎีกาของโจทก์ที่ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของมารดาโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นการฟังข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากพยานหลักฐานในสำนวนเนื่องจากพยานหลักฐานในสำนวนฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์นั้น เป็นการหยิบยกพยานและเหตุต่างๆ ขึ้นอ้างเพื่อให้ศาลฎีกาฟังว่าที่ดินพิพาทไม่ได้เป็นทรัพย์มรดกของมารดาและจำเลยที่ 1 และโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นการฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 9 เพื่อให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน 1 แปลง เนื้อที่ประมาณ 2 งาน ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง และบ้านเลขที่ 19 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าว โจทก์ให้นางและอะ จงรัก มารดาของโจทก์ไปแจ้งชื่อเป็นผู้ครอบครองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) ต่อมานางและอะถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอจัดการมรดกที่ดินดังกล่าวโดยโจทก์ไม่ได้ยินยอม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางและอะ แล้วจำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการขอเปลี่ยนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เดิมของที่ดินดังกล่าวเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1952 และแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกเป็น 3 แปลงเป็น น.ส. 3 ก. เลขที่ 1952, 1953 และ 1954 จากนั้นได้โอนที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 1954 ให้แก่จำเลยที่ 2 จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1952, 1953 และ 1954 ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้อง
จำเลยทั้งสองให้การว่า เดิมที่ดินตามฟ้องเป็นที่ดินที่มีแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค. 1) ของนายมะเต จงรัก และนายมะเงาะ ปูเงิน นายมะเตและนางและอะซึ่งเป็นบิดามารดาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินดังกล่าว เมื่อนายมะเตถึงแก่กรรมนางและอะ และนายมะเงาะได้แบ่งแยกที่ดินดังกล่าว โดยในส่วนของนางและอะได้ออกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เล่ม 1 หน้า 137 สารบบเล่ม 3 หน้า 11 หมู่ที่ 3 ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เนื้อที่ 2 งาน 75 ตารางวา นางและอะได้สั่งบุตรไว้ว่าเมื่อนางและอะถึงแก่กรรมให้แบ่งที่ดินและบ้านดังกล่าวให้แก่บุตรทั้งสามคนคือ นางสมิอะ บุญญา จำเลยที่ 1 และโจทก์ เมื่อนางและอะถึงแก่กรรม ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้นำที่ดินมรดกของนางและอะไปดำเนินการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ใหม่เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1952 และแบ่งแยกที่ดินแปลงดังกล่าวเป็น 3 แปลง ตามที่นางและอะสั่งไว้ ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่ที่ดินของโจทก์แต่เป็นทรัพย์มรดกของนางและอะ จำเลยที่ 1 มีหนังสือไปถึงโจทก์ให้มารับโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1952 ซึ่งเป็นส่วนแบ่งที่ดินมรดก และจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1954 ส่วนของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตร ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ที่โจทก์ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของมารดาโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นการฟังข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากพยานหลักฐานในสำนวนเนื่องจากพยานหลักฐานในสำนวนฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์นั้น เห็นว่า ฎีกาของโจทก์ข้อนี้เป็นการหยิบยกพยานและเหตุต่างๆ ขึ้นอ้างเพื่อให้ศาลฎีกาฟังว่าที่ดินพิพาทไม่ได้เป็นทรัพย์มรดกของมารดาโจทก์และจำเลยที่ 1 และโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นการฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 9 เพื่อให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง หาใช่เป็นปัญหาข้อกฎหมายดังที่โจทก์อ้างไม่จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.