คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1324/2496

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ให้เช่าโรงสี 3 ปี มีข้อสัญญาว่าเมื่อครบ 3 ปีแล้วผู้ให้เช่ายังไม่ได้โอนโรงสีให้ผู้ใด ต้องยอมให้เช่าต่อไปอีก 2 ปี เป็นคำมั่นจะให้เช่า ไม่เป็นการให้เช่าเกิน 3 ปี
ผู้รับโอนโรงสีลงชื่อในบันทึก ให้การเช่าเป็นไปตามสัญญาที่ผู้โอนทำไว้ และคงให้ผู้เช่าเช่าต่อไปตามคำมั่นโดยไม่ทักท้วง ผู้รับโอนต้องผูกพันตามสัญญาเช่าที่เกิดจากคำมั่นในสัญญาเช่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและยื่นคำร้องเพิ่มเติมฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2489 โจทก์ได้รับโอนที่ดินโฉนดตราจองที่ 7 ตำบลบางตาหงายอำเภอบรรพตพิไสย จังหวัดนครสวรรค์ ไว้จากนางถ้วย กันสุขโดยชอบด้วยกฎหมาย ในที่แปลงนี้มีโรงสีข้าวเครื่องยนต์ 1 โรงซึ่งนางถ้วยได้ให้จำเลยเช่า ดังปรากฏตามสัญญาเช่าท้ายฟ้อง แต่จำเลยได้ปฏิบัติผิดสัญญาเช่าหลายประการคือ 1.เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่า 3 ปีแล้ว จำเลยไม่ออกจากที่เช่า ไม่ส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าให้แก่โจทก์ โจทก์ได้เตือนหลายครั้งตลอดจนให้อำเภอเรียกจำเลยมาแจ้งให้ทราบถึงการบอกเลิกสัญญาเช่า แต่จำเลยกลับโต้แย้งว่ามีสิทธิจะเช่าได้อีก 2 ปี ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะจำเลยกับโจทก์หาได้มีสัญญาเช่ากันใหม่ไม่

2. จำเลยได้ค้างค่าเช่ารวม 3,700 บาท ซึ่งโจทก์ได้ทวงถามจำเลยแล้ว จำเลยก็ไม่ชำระ

3. จำเลยใช้โรงสีและเครื่องยนต์เก่าทำการสีข้าวโดยมิได้ซ่อมแซมตามสัญญาข้อ 7

4. จำเลยใช้ทรัพย์สินที่เช่า ผิดไปจากสัญญาเช่า ทำให้ทรัพย์สินที่เช่าชำรุดเสียหาย

จึงขอให้ศาลพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่เช่าส่งมอบทรัพย์ที่เช่าให้โจทก์ในสภาพอันซ่อมแซมแล้ว และให้คืนเครื่องมือตามบัญชีท้ายคำร้องเพิ่มเติมฟ้องหรือใช้ราคาเป็นเงิน5,078 บาทแก่โจทก์กับให้จำเลยใช้ค่าเช่าที่ค้าง 3,700 บาท และค่าเสียหายในการที่จำเลยไม่ยอมส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าให้โจทก์เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าแล้วอีกเดือนละ 1,500 บาท เป็นเวลา 2 ปี เป็นเงิน 36,000 บาท

จำเลยให้การต่อสู้ว่า เดิมนางถ้วยมารดาโจทก์ได้ให้บริษัทจังหวัดเช่าโรงสีนี้ แล้วเลิกเช่าต่อกันเพราะโรงสีใช้ทำการสีข้าวไม่ได้โดยส่วนสำคัญต่าง ๆ ของโรงสีเสียหาย นางถ้วยได้ขอให้จำเลยออกเงินซื้ออุปกรณ์จัดการซ่อมให้สีข้าวได้ แล้วยอมให้จำเลยเช่าโรงสีและใช้ที่ดินในบริเวณโรงสีได้โดยตลอด ไม่คิดเอาค่าเช่า1 ปี ดังปรากฎตามสัญญาเช่าท้ายฟ้อง ตามสัญญาเช่ามีว่า ในระหว่างสัญญาเช่าไม่ครบ 3 ปี นางถ้วยจะโอนโรงสีให้แก่ใครไม่ได้ ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2491 จำเลยจึงทราบว่านางถ้วยโอนโรงสีให้แก่โจทก์แล้วโจทก์จำเลยจึงได้ทำสัญญาเช่ากันต่อไปอีก เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2491 ดังปรากฏตามสำเนาท้ายคำให้การ จำเลยมิได้เคยทำสัญญาเช่าดังฟ้อง จำเลยได้ชำระค่าเช่าและจ่ายเงินเป็นค่าเช่าล่วงหน้าตามที่โจทก์ขอให้จ่าย คิดรวมเป็นเงินถึง 7,005 บาท เมื่อคิดหักกันแล้วจำเลยได้จ่ายเกินไป 3,525 บาท การซ่อมแซมเครื่องยนต์จำเลยก็ได้ซ่อมแซมที่จำเลยเลี้ยงสุกร เป็ด ไก่ ก็เพราะโจทก์อนุญาตและมิได้เกิดการเสียหายอย่างใดแก่ทรัพย์ที่เช่า โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกและฟ้องขับไล่ เพราะสัญญาเช่ายังไม่ครบกำหนดจำเลยไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งค่าเสียหายที่โจทก์เรียกก็ไกลกว่าเหตุและสูงเกินควร เครื่องมือที่โจทก์ฟ้องเรียกเพิ่มเติม จำเลยก็ไม่เคยได้รับไว้

ในวันนัดชี้สองสถาน คู่ความรับกันว่า สัญญาเช่าที่จำเลยส่งศาลลงวันที่ 21 กันยายน 2488 เป็นสัญญาเช่าโรงสีระหว่างนางถ้วยกับจำเลย และบันทึกตอนท้ายลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2491 เป็นสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลย และรับกันว่าโรงสีที่เช่าเริ่มเปิดสีข้าวแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2488 คู่ความตกลงกันกะประเด็นให้ศาลพิจารณาเพียง 4 ข้อ คือ

1. บันทึกลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2491 ท้ายสัญญาที่จำเลยส่งศาลเป็นสัญญาที่โจทก์ยอมให้จำเลยเช่าต่อจากสัญญาเดิมอีก 2 ปีจริงหรือไม่

2. จำเลยค้างชำระค่าเช่าดังโจทก์ฟ้อง จริงหรือไม่

3. จำเลยได้รับเครื่องมือไปตามที่โจทก์อ้าง จริงหรือไม่

4. ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกฐานไม่เลิกสัญญาเป็นค่าเสียหายไกลกว่าเหตุซึ่งจำเลยไม่ต้องรับผิด จริงหรือไม่

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยมิได้ผิดสัญญา เพราะตามสัญญาจำเลยมีสิทธิใช้ทรัพย์สินที่เช่าติดต่อกันได้ 5 ปี นับแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2488 เป็นต้นไป ข้อที่ว่าจำเลยค้างค่าเช่าก็ได้ความว่าจำเลยส่งค่าเช่าล่วงหน้าจนเกินกว่าค่าเช่าแล้วเรื่องเครื่องมือที่โจทก์ว่าจำเลยได้รับไว้ก็น่าเชื่อตามที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยมิได้รับ เมื่อจำเลยไม่ได้ผิดสัญญา โจทก์ก็ฟ้องเรียกค่าเสียหายไม่ได้ จึงพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ให้โจทก์ใช้ค่าธรรมเนียมกับค่าทนาย 500 บาทแทนจำเลย

โจทก์อุทธรณ์ เฉพาะในประเด็นข้อ 1-2 และ 4 ส่วนประเด็นข้อ 3เรื่องเครื่องมือโจทก์ไม่ติดใจอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วคงพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ค่าธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับไป

โจทก์ฎีกาเฉพาะในประเด็นข้อ 1-2 และ 4 ต่อมา

ศาลฎีกาได้นั่งฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจาของทนายโจทก์ และได้ประชุมปรึกษาคดีนี้แล้ว ในประเด็นที่ว่าบันทึกลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2491 ท้ายสัญญาเช่าเดิม เป็นสัญญาที่โจทก์ยอมให้จำเลยเช่าต่อจากสัญญาเดิมอีก 2 ปี หรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าเดิมจำเลยทำสัญญาเช่าโรงสีจากนางถ้วยมีกำหนด 3 ปี นับแต่วันเปิดสีข้าวคือวันที่ 8 ธันวาคม 2488 วันครบกำหนดตามสัญญาก็คือวันที่ 8 ธันวาคม 2491 ตามสัญญาข้อ 1 นั้นนางถ้วยผู้ให้เช่าให้สัญญาไว้ว่าเมื่อครบกำหนด 3 ปี แล้วผู้ให้เช่ายังไม่ได้โอนโรงสีให้ผู้ใดผู้ให้เช่าต้องยอมให้ผู้เช่าทำการเช่าโรงสีต่อไปอีก 2 ปี ในอัตราค่าเช่าเดือนละไม่เกิน 120 บาท ในระหว่างที่สัญญาเช่ายังไม่ครบกำหนด นางถ้วยโอนที่ดินและโรงสีให้กับโจทก์ผู้เป็นบุตรต่อมาโจทก์มาขอกู้เงินจำเลย 5,500บาท โดยเอาโรงสีเป็นประกันในวันนั้นเองโจทก์ก็ทำบันทึกต่อท้ายสัญญาเช่าเดิมว่า “เรื่องการเช่าโรงสีต่อไปขอให้เป็นไปตามหนังสือสัญญาฉบับนี้” ครั้นเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าเดิมแล้ว จำเลยคงทำการสีข้าวต่อมาโดยโจทก์มิได้ทักท้วงอย่างไร เดือนกรกฎาคม 2492 โจทก์จึงไปร้องต่ออำเภอขอเลิกสัญญาเช่ากับจำเลย กรมการอำเภอให้จำเลยทราบคำร้องเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2492 จำเลยเถียงว่าสัญญาเช่ายังไม่ครบกำหนดโจทก์จึงมาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2492

ศาลฎีกาเห็นว่า การที่นางถ้วยให้สัญญาไว้กับจำเลยว่าเมื่อสัญญาเช่าครบกำหนดแล้ว ถ้ายังมิได้โอนโรงสีให้กับผู้อื่นไปนางถ้วยต้องยอมให้จำเลยเช่าต่อไปอีก 2 ปี ในอัตราค่าเช่าใหม่นั้นหาเป็นการขัดแย้งกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538 และ ฎีกาที่ 474/2490 ดังโจทก์อ้างไม่ เพราะสัญญาเช่าระหว่างนางถ้วยกับจำเลยไม่ใช่สัญญาที่ให้เช่าติดต่อกันเกินกว่า 3 ปี การที่นางถ้วยสัญญาว่าเมื่อครบกำหนดแล้ว ถ้ายังมิได้โอนโรงสีให้กับผู้อื่นนางถ้วยต้องยอมให้จำเลยเช่าอีก 2 ปีนั้น เป็นแต่นางถ้วยให้คำมั่นไว้แก่จำเลยว่าจะให้เช่าต่อไปในเมื่อครบสัญญาเช่าเดิมแล้วสัญญาเช่าเช่นนี้ใช้บังคับได้ดังที่ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยมาแล้วในคำพิพากษาฎีกาที่ 626/2490 ระหว่างหลวงวิจารณ์ธนาคม ผู้รับมอบอำนาจจากหม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์ โจทก์ นายชยันต์หรือยอนจำเลยอย่างไรก็ดีการที่โจทก์ทำบันทึกให้จำเลยเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2491 ภายหลังที่โรงสีโอนมาเป็นของโจทก์ และเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าเดิมแล้ว โจทก์ก็ยังคงให้จำเลยเช่าโรงสีต่อไปโดยไม่ทักท้วงนั้น เป็นเรื่องโจทก์ได้ทำสัญญากับจำเลยใหม่ ยอมให้จำเลยเช่าโรงสีต่อจากสัญญาเดิมอีก 2 ปี ซึ่งสัญญาใหม่นี้จะสิ้นอายุต่อเมื่อถึงวันที่ 8 ธันวาคม 2493 โจทก์มาฟ้องจำเลยแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2492 จึงยังฟ้องไม่ได้

ส่วนในประเด็นที่ว่าจำเลยค้างค่าเช่าหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์ยอมรับแล้วว่า โจทก์ได้เก็บค่าเช่าจากจำเลยแล้วรวม 2,500 บาท ตามสัญญาเช่าเดิมมีว่าในปีแรก นางถ้วยไม่คิดค่าเช่าเอากับจำเลย เพราะฉะนั้นค่าเช่าจะเริ่มคิดกันแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2489 ถึงวันสิ้นอายุสัญญาเช่าเดิมก็เป็นเวลา 2 ปีค่าเช่าเดือนละ 100 บาท รวม 2 ปี ก็ 2,400 บาท ซึ่งน้อยกว่าที่โจทก์ยอมรับว่าได้เก็บไปจากจำเลยแล้ว ส่วนค่าเช่าต่อมาจนถึงวันฟ้องเป็นเวลาอีก 8 เดือนนั้นน่าเชื่อว่าเป็นเพราะโจทก์ไม่ไปเก็บเองโดยมีความเกรงใจจำเลย เพราะโจทก์กู้เงินจำเลยไปถึง5,500 บาท ทั้งจำเลยยังว่าได้ส่งค่าเช่าล่วงหน้าให้บุตรโจทก์ไปอีกมากมาย ดังนี้จะว่าจำเลยค้างชำระค่าเช่าหาได้ไม่

ส่วนในประเด็นข้อ 4 ที่โจทก์เรียกค่าเสียหายเนื่องจากจำเลยไม่ส่งมอบโรงสีคืนให้โจทก์นั้น เมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วในประเด็นข้อ 1 ว่าสัญญาเช่าระหว่างจำเลยกับโจทก์ยังไม่สิ้นอายุแล้วก็ไม่ต้องวินิจฉัยประเด็นข้อนี้

ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาจึงถูกต้องแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

จึงพิพากษายืนให้ยกฎีกาโจทก์ ค่าธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับไป

Share