คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3742/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ด. จดทะเบียนสมรสกับโจทก์ที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(ฉบับเดิม) ในขณะที่ ด. มีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5อยู่แล้ว การสมรสระหว่างโจทก์ที่ 1 กับ ด. จึงเป็นโมฆะตามมาตรา 1490 และ 1445(เดิม) โจทก์ที่ 1จึงมิใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ด. ไม่มีสิทธิได้รับมรดกของ ด.แม้การสมรสระหว่างด. กับโจทก์ที่ 1จะยังไม่มีคำพิพากษาเพิกถอนหรือพิพากษาว่าเป็นโมฆะ แต่ศาลยกขึ้นวินิจฉัยว่าการสมรสเป็นโมฆะได้ เพราะจำเลยได้ต่อสู้เป็นประเด็นไว้
มรดกอยู่ระหว่างจัดการแบ่งให้ทายาท โจทก์ฟ้องคดีแม้จะเกิน 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย คดีก็ไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754
เอกสารมีข้อความว่า ‘บัดนี้ ว. ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลได้จัดการแบ่งมรดกตามที่ควรได้เป็นจำนวนเงิน10,000 บาทไว้เป็นที่เรียบร้อยซึ่งผู้รับได้รับไว้ถูกต้องทุกประการแล้ว และขอรับรองไว้ในหนังสือนี้ว่า ข้าพเจ้าหมดสิทธิในกองมรดกทั้งหมดด้วย’ ซึ่งโจทก์ที่ 1 ที่ 2ลงชื่อไว้ก็ตาม แต่ผู้จัดการมรดกบอกในวันทำเอกสารว่าใครมารับเงินก็ต้องเซ็นชื่อ ในวันทำเอกสารนี้โจทก์ที่2 ที่ 3 ยังไม่ทราบว่ามีที่ดินเป็นทรัพย์มรดกเพราะผู้จัดการมรดกไม่เคยบอกให้ทราบ ทั้งเอกสารก็ไม่ได้ระบุชัดว่าโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ไม่ต้องการที่ดินมรดกดังนั้นที่โจทก์ที่ 2 ที่ 3 รับรองว่าหมดสิทธิในกองมรดกด้วยซึ่งหมายความถึงเฉพาะเงินอันเป็นส่วนแบ่งบางส่วนของกองมรดกซึ่งโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ได้รับไปเท่านั้น โจทก์ที่ 2ที่ 3 ยังมีสิทธิรับที่ดินซึ่งเป็นมรดก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเดือนโจทก์ที่ 2 ที่ 3 เป็นบุตรของนายเดือนอันเกิดจากโจทก์ที่ 1 (ภริยาคนที่ 3) จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นบุตรของนายเดือน เกิดจากนางอารีย์ ซึ่งเป็นสามีภริยาก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 (ภริยาคนที่ 2) จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของนายเดือนด้วย จำเลยที่ 5 เป็นบุตรของนายเดือนอันเกิดจากนางเขียน (ภริยาคนที่ 1) ซึ่งอยู่กินกันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 นางเขียนและนางอารีย์ได้ทิ้งร้างกับนายเดือนมานานแล้ว นายเดือนถึงแก่กรรมโดยมิได้ทำพินัยกรรม นางวันน้องผู้ตายได้ยื่นขอเข้าเป็นผู้จัดการมรดก แต่นางวันได้ถึงแก่กรรมไปโดยยังจัดการมรดกไม่เสร็จ จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายเดือนต่อไป ในการยื่นคำร้องนี้ จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันปกปิดความจริงโดยมิได้ระบุชื่อโจทก์ทั้งสามลงในบัญชีเครือญาติ ทั้งที่จำเลยทั้งห้ารู้ดีแล้วว่าโจทก์ทั้งสามมีสิทธิรับมรดกของนายเดือนในฐานะทายาทโดยชอบด้วยกฎหมายนายเดือนมีทรัพย์มรดกคือที่ดินโฉนดเลขที่ 678 ตำบลสาวชะโงก อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื้อที่ประมาณ 101 ไร่ 1 งาน 64 ตารางวา ที่ดินตำบลบางลำภูล่าง เนื้อที่ประมาณ 4 ไร่เศษ แล้วจำเลยที่ 1 นำที่ดินมรดกโฉนดเลขที่ 678 ไปจดทะเบียนแบ่งแยกเป็นโฉนดย่อย 5 โฉนด โอนเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งห้า การกระทำของจำเลยทั้งห้าทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 678 ตำบลสาวชะโงก อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นโฉนดย่อย และเพิกถอนการจดทะเบียนการโอนที่ดินโฉนดย่อย ซึ่งได้โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกไปจัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 678 ให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 57 ไร่ 94.7 ตารางวา ให้โจทก์ที่ 2 ที่ 3 จำนวนคนละ 6 ไร่ 2 งาน 12.7 ตารางวา

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิใด ๆ ในทรัพย์พิพาท เพราะทรัพย์พิพาทเป็นสินเดิมของนายเดือน นางอารีย์มารดาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้อยู่กินฉันสามีภริยาตลอดมาจนกระทั่งนายเดือนถึงแก่กรรมการสมรสระหว่างโจทก์ที่ 1 กับนายเดือนตกเป็นโมฆะเพราะนายเดือนมีคู่สมรสอยู่ก่อนแล้ว โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ได้ทำหนังสือสละมรดกแล้ว นางวันผู้จัดการมรดกนายเดือนได้แบ่งปันมรดกทรัพย์พิพาทให้จำเลยแล้วโดยชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยได้ครอบครองทำประโยชน์ทรัพย์พิพาทโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน ต่อมานายวันถึงแก่กรรมยังไม่ทันแบ่งแยกที่ดินให้จำเลย จำเลยที่ 1 จึงได้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกต่อเพื่อจัดการแบ่งแยกโฉนดให้แก่จำเลยอื่นฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1755 แล้วขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 5 ให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องให้เพิกถอนการจดทะเบียนที่ดินส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 5 เพราะจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายเดือนตามคำสั่งศาลแบ่งให้ในฐานะจำเลยที่ 5 เป็นทายาทกองมรดก โจทก์ทั้งสามมิได้เป็นภริยาและบุตรอันชอบด้วยกฎหมายของนายเดือนเพราะนางเขียนมารดาจำเลยที่ 5 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 และมิได้เลิกร้างกัน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า นางเขียนและนางอารีย์ เป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเดือนเจ้ามรดก และสมรสกันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 นายเดือนได้รับมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 678 ก่อนที่โจทก์ที่ 1 จะสมรสกับนายเดือนที่ดินโฉนดเลขที่ 678 จึงเป็นสินส่วนตัวของนายเดือน โจทก์ที่ 1 มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งเป็นทายาทชั้นบุตร 1 ใน 10 ส่วน เป็นเนื้อที่ 10 ไร่ 56.4 ตารางวา ส่วนโจทก์ ที่ 2 ที่ 3 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเดือน มีสิทธิรับมรดกด้วยหนังสือสละมรดก หาเป็นสัญญาประนีประนอมหรือเป็นหนังสือสละมรดกไม่ โจทก์ที่ 2 ที่ 3 จึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งที่ดินคนละ 1 ใน 10 ส่วน เป็นเนื้อที่คนละ 10 ไร่ 56.4 ตารางวา มรดกของผู้ตายอยู่ระหว่างจัดการมรดก คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 678 ตำบลสาวชะโงก อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา แล้วให้รวมเข้าเป็นโฉนดใหญ่ให้แบ่งแยกที่ดินโฉนดดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสามได้รับส่วนแบ่งมรดกคนละ 10 ไร่ 56.4 ตารางวา

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การสมรสระหว่างนายเดือนกับโจทก์ที่ 1 ยังมิได้ถูกเพิกถอนโดยคำพิพากษาของศาลหรือศาลพิพากษาว่าเป็นโมฆะ โจทก์ที่ 1 จึงเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ที่ 2 ที่ 3 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเดือนหนังสือสละมรดกของโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ไม่ได้นำมอบไว้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ ไม่เป็นหนังสือแสดงเจตนาสละมรดก แต่เข้าลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 มีผลเป็นการแบ่งมรดกตามมาตรา 1750 วรรคสอง โจทก์ที่ 2 ที่ 3 จึงหมดสิทธิรับมรดก คดีไม่ขาดอายุความ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 678 ตำบลสาวชะโงก อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้โจทก์ที่ 1 ได้รับส่วนเนื้อที่ 10 ไร่ 56.4 ตารางวา ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 ที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ก่อนนายเดือนจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับเดิม) นายเดือนมีภริยาคือนางเขียนมารดาจำเลยที่ 5 และนางอารีย์มารดาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 โดยชอบด้วยกฎหมายก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 การสมรสระหว่างโจทก์ที่ 1 กับนายเดือนจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 และ 1445 (เดิม) เพราะนายเดือนเป็นสามีของนางเขียนและนางอารีย์อยู่ก่อนแล้วโจทก์ที่ 1 จึงมิใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเดือน ไม่มีสิทธิได้รับมรดกของนายเดือน ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 ยังมิได้ถูกเพิกถอนโดยคำพิพากษาของศาลหรือศาลพิพากษาว่าเป็นโมฆะ โจทก์ที่ 1 ยังเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 อ้างว่าการสมรสเป็นโมฆะไม่ได้นั้น เห็นว่าศาลยกขึ้นวินิจฉัยว่าการสมรสเป็นโมฆะได้ เพราะจำเลยได้ต่อสู้เป็นประเด็นไว้แล้ว

มรดกรายนี้อยู่ระหว่างจัดการแบ่งให้แก่ทายาท จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกต่อจากนางวันผู้จัดการมรดกคนก่อนซึ่งถึงแก่กรรม และปกครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่น ต่อมาจำเลยที่ 1 โอนทรัพย์มรดกตามฟ้องไปเป็นของจำเลยทั้งห้า โจทก์ฟ้องคดีนี้แม้จะเกิน 1 ปี นับแต่นายเดือนเจ้ามรดกตายคดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754

ส่วนที่โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิรับมรดกอยู่เพราะหนังสือสละมรดกไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลฎีกาเชื่อว่าในวันทำหนังสือดังกล่าวโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ไม่ทราบว่ามีที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกเพราะนางวันผู้จัดการมรดกไม่เคยบอกให้ทราบ หนังสือนั้นมีข้อความว่า “บัดนี้นางวัน คณิตวิจารณ์ ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ได้จัดการแบ่งมรดกตามที่ควรได้เป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) ไว้เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งผู้รับได้รับไว้ถูกต้องทุกประการแล้ว และขอรับรองไว้ในหนังสือนี้ว่าข้าพเจ้าหมดสิทธิในกองมรดกทั้งหมดด้วย” ก็มิได้ระบุไว้ชัดว่าโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ไม่ต้องการที่ดินมรดก ฉะนั้น ที่โจทก์ที่ 2 ที่ 3 รับรองว่าหมดสิทธิในกองมรดกด้วยจึงหมายถึงเฉพาะเงินอันเป็นส่วนแบ่งบางส่วนของกองมรดกซึ่งโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ได้รับไปเท่านั้น และไม่เกี่ยวกับกองทรัพย์มรดกรายพิพาทนี้หนังสือดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความระงับข้อพิพาท โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ยังมีสิทธิรับมรดกที่ดินพิพาท

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 678 ตำบลสาวชะโงก อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่จำเลยทั้งห้าแบ่งแยกไปแล้วให้รวมเข้าเป็นโฉนดเดิม ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดก และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 678 ให้โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ได้รับส่วนแบ่งมรดกคนละ 10 ไร่ 56.4 ตารางวา ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1

Share