คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6850/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เหตุอันสมควรที่แสดงได้ว่าผู้ร้องไม่สามารถยื่นคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 27 นั้น มิใช่เหตุที่เกิดจากผู้ร้องฝ่ายเดียว หากมีเหตุอันสมควรเกิดจากความยุ่งยากและความซับซ้อนในการตรวจสอบทรัพย์สินของพนักงานเจ้าหน้าที่ก็นับว่ามีเหตุอันสมควรเช่นกัน การที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสี่ไว้ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2546 เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดได้มีคำสั่งมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2546 แต่เพิ่งมีหนังสือถึงผู้ร้องให้ยื่นคำร้องขอริบทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสี่เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2548 ทั้ง ๆ ที่ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสี่ที่ถูกตรวจสอบมีจำนวนไม่มาก ส่วนมากเป็นสังหาริมทรัพย์มีรูปร่างมูลค่าไม่สูงมากหรือมีความซับซ้อนยากแก่การตรวจสอบและอยู่ในราชอาณาจักรสามารถตรวจสอบได้โดยง่าย กระบวนการตรวจสอบนับตั้งแต่ที่มีการยึดทรัพย์จนถึงวันที่แจ้งให้ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลใช้เวลากว่าสองปี นับว่าเป็นเวลานานเกินสมควร จึงไม่ใช่กรณีมีเหตุอันสมควรที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาได้ตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากผู้ร้องฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยผิดกฎหมาย ต่อมาวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกผู้คัดค้านที่ 1 มีกำหนด 7 ปี และปรับ 700,000 บาท ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 218/2548 ผู้ร้องได้รับสำนวนการตรวจสอบทรัพย์สินจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 5 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2548 จึงไม่สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งริบทรัพย์สินทั้ง 49 รายการ ของผู้คัดค้านทั้งสี่ได้ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ขอให้ริบทรัพย์สินทั้ง 49 รายการ ตามคำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินที่ 355/2548 ลงวันที่ 14 มีนาคม 2548 ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 27, 29, 31
ศาลได้มีคำสั่งให้ประกาศในหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านทั้งสี่ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องและคืนทรัพย์สินแก่ผู้คัดค้านทั้งสี่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งริบทรัพย์สิน 49 รายการ ที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดไว้ตามคำสั่งที่ 355/2548 ลงวันที่ 14 มีนาคม 2548 ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29, 31
ผู้คัดค้านทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง คืนทรัพย์สิน 49 รายการ ที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดไว้ตามคำสั่งที่ 355/2548 ลงวันที่ 14 มีนาคม 2548 ให้แก่ ผู้คัดค้านทั้งสี่ตามลำดับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้ร้องมีเหตุสมควรยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งริบทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสี่จำนวน 49 รายการ ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษผู้คัดค้านที่ 1 ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันเป็นมูลเหตุให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสี่หรือไม่ ผู้ร้องบรรยายคำร้องว่า ผู้ร้องได้รับสำนวนการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสี่จากสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 5 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2548 ผู้ร้องจึงไม่สามารถยื่นคำร้องก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาได้ ศาลฎีกาเห็นว่า เหตุอันสมควรที่แสดงได้ว่าไม่สามารถยื่นคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 27 นั้น มิใช่เหตุที่เกิดจากผู้ร้องฝ่ายเดียว หากมีเหตุอันสมควรเกิดจากความยุ่งยากและความซับซ้อนในการตรวจสอบทรัพย์สินของพนักงานเจ้าหน้าที่ก็นับว่ามีเหตุอันสมควรเช่นกัน สำหรับคดีนี้ได้ความว่าเจ้าพนักงานตำรวจยึดทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสี่ไว้ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2546 เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดได้มีคำสั่งมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2546 แต่เพิ่งมีหนังสือถึงผู้ร้องให้ยื่นคำร้องขอริบทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสี่เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2548 ทั้งๆ ที่ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสี่ที่ถูกตรวจสอบมีจำนวนไม่มาก ส่วนมากเป็นสังหาริมทรัพย์มีรูปร่างมูลค่าไม่สูงมากหรือมีความซับซ้อนยากแก่การตรวจสอบและอยู่ในราชอาณาจักรสามารถตรวจสอบได้โดยง่าย กระบวนการตรวจสอบนับตั้งแต่ที่มีการยึดทรัพย์จนถึงวันที่แจ้งให้ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลใช้เวลากว่าสองปี นับว่าเป็นเวลานานเกินสมควร จึงไม่ใช่กรณีมีเหตุอันสมควรที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาได้ตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share