คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1946/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ภายหลังลดโทษแล้วคงจำคุกคนละ 4 ปี อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 104(2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดราชบุรี มีกำหนดขั้นต่ำคนละ 3 ปี ขั้นสูงคนละ 4 ปี กรณีเป็นเรื่องกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน ซึ่งตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 121 ต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ เว้นแต่ถ้าเป็นกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ส่งเด็กหรือเยาวชนไปกักหรืออบรมตามมาตรา 105 มีกำหนดระยะเวลาขั้นสูงเกิน 3 ปี จึงจะอุทธรณ์ได้กรณีนี้จึงมิใช่การส่งไปกักและอบรมตามข้อยกเว้นดังกล่าว เมื่ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 2ถึงที่ 4 เป็นเรื่องเฉพาะเกี่ยวกับกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน ทั้งไม่ปรากฏว่ามีการอนุญาตให้อุทธรณ์ตามมาตรา 122 ดังนั้น คดีจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์
ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฎีกาว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว มิได้ระบุข้อเท็จจริงไม่ให้เหตุผลในการตัดสินและมิได้ระบุมาตราที่ยกขึ้นเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เมื่อศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ไว้โดยไม่ชอบ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวจึงไม่ชอบด้วยเช่นกัน ดังนั้น ฎีกาดังกล่าวแม้เป็นข้อกฎหมายแต่ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2542 เวลากลางคืนหลังเที่ยงถึงวันที่ 8สิงหาคม 2542 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งห้ากับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องและมีอายุพ้นเกณฑ์เยาวชนแยกดำเนินคดีต่างหากแล้วได้ร่วมกันข่มขืนกระทำชำเรานางสาว ข. อายุ 20 ปี ผู้เสียหาย อันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 276

จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 วรรคสอง, 83 ขณะกระทำผิดจำเลยที่ 1 และที่ 5 อายุ 17 ปี จำเลยที่ 2และที่ 4 อายุ 16 ปี จำเลยที่ 3 อายุ 15 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 จำคุกคนละ 8 ปี จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ เห็นสมควรลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78จำคุกคนละ 4 ปี อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 104(2) (ที่ถูก มาตรา 105ด้วย) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยทั้งห้าไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดราชบุรีมีกำหนดขั้นต่ำคนละ 3 ปี ขั้นสูงคนละ 4 ปี นับแต่วันควบคุม ริบถุงยางอนามัย 7 อัน ของกลาง

จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ

ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวจำเลยที่ 5 ถึงแก่ความตาย ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 5 จากสารบบความ

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง, 83จำคุกคนละ 8 ปี จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ เห็นสมควรลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 4 ปี อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 104(2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดราชบุรี มีกำหนดขั้นต่ำคนละ 3 ปี ขั้นสูงคนละ 4 ปี กรณีเป็นเรื่องกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 121 ต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ เว้นแต่ (3) ถ้าเป็นกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ส่งเด็กหรือเยาวชนไปกักและอบรมตามมาตรา 105 มีกำหนดระยะเวลาขั้นสูงเกิน 3 ปี จึงจะอุทธรณ์ได้ แต่ในคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ส่งตัวจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไปฝึกและอบรมขั้นต่ำคนละ 3 ปี และขั้นสูง 4 ปีจึงมิใช่การส่งไปกักและอบรมตามข้อยกเว้นดังกล่าว ในส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2ถึงที่ 4 ก็เป็นเรื่องเฉพาะเกี่ยวกับกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน ทั้งไม่ปรากฏว่ามีการอนุญาตให้อุทธรณ์ตามมาตรา 122 ดังนั้น จึงต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4อุทธรณ์ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไว้ และศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวรับพิจารณาและมีคำพิพากษาคดีจึงไม่ชอบ และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่มีสิทธิฎีกาต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวไม่รับวินิจฉัยให้ สำหรับปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ที่ว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมิได้ระบุข้อเท็จจริงไม่ให้เหตุผลในการตัดสินและมิได้ระบุมาตราที่ยกขึ้นเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายเห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไว้โดยไม่ชอบคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว จึงไม่ชอบด้วยเช่นกัน ดังนั้น ฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ดังกล่าวแม้เป็นข้อกฎหมาย แต่ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”

พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว โดยให้บังคับคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share