คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4919/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลูกจ้างออกเดินทางจากบ้านพักของลูกจ้างเพื่อไปเก็บเงินจากลูกค้าตามคำสั่งของนายจ้างและประสบอุบัติเหตุขณะเดินทางแสดงอยู่ในตัวว่าลักษณะการทำงานของลูกจ้างในวันเกิดเหตุลูกจ้างไม่ต้องเข้าไปยังที่ทำงานของลูกจ้างและกระทำกิจอื่นแต่ลูกจ้างออกจากบ้านพักตรงไปบ้านลูกค้าเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายย่อมชี้ให้เห็นว่าลูกจ้างได้เริ่มลงมือทำงานแล้วแต่ยังไม่ถึงที่หมายกรณีไม่จำต้องปฏิบัติหน้าที่ถึงขนาดที่ลูกจ้างจะต้องเดินทางไปถึงที่หมายและเริ่มลงมือเก็บเงินจากลูกค้าจริงๆถือว่าลูกจ้างได้ประสบอันตรายโดยถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างแล้วภริยาของลูกจ้างจึงมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ที่วินิจฉัยไม่จ่ายเงินทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นภรรยาของลูกจ้างผู้ตาย และให้จ่ายเงินทดแทนตามกฎหมายแก่โจทก์ที่ 1
จำเลยให้การว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตามหนังสือที่ รส.0711/62/26ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2537 และให้จ่ายเงินทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 ตามกฎหมาย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ว่า คำว่า”ประสบอันตราย” ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ 2 มีความหมายว่า การที่ลูกจ้างได้รับอันตรายแก่การหรือจิตใจหรือถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างหรือการป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้างนั้นลูกจ้างที่ได้รับอันตรายหรือถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างจะต้องลงมือทำงานให้กับนายจ้างแล้ว มิใช่เพียงแต่กำลังเดินทางจะไปทำงานเท่านั้น ผู้ตายเพียงแต่กำลังเดินทางจะไปยังบ้านลูกค้ารายแรก การกระทำของผู้ตายจึงยังมิได้ปฏิบัติหน้าที่ให้แก่โจทก์ที่ 2 และยังมิได้ทำงานให้เป็นประโยชน์ต่อโจทก์ที่ 2 ถือว่าเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างหาได้ไม่ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนชอบแล้วพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ตายออกเดินทางจากบ้านพักของผู้ตายเพื่อไปเก็บเงินจากลูกค้าตามคำสั่งของโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างและประสบอุบัติเหตุขณะกำลังเดินทาง แสดงอยู่ในตัวว่าลักษณะการทำงานของผู้ตายในวันเกิดเหตุ ผู้ตายไม่ต้องเข้าไปยังที่ทำงานของผู้ตายและกระทำกิจอื่นก่อน แต่ผู้ตายออกจากบ้านพักตรงไปยังบ้านของลูกค้าเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย ย่อมชี้ให้เห็นว่า ผู้ตายได้เริ่มลงมือทำงานแล้วแต่ยังไม่ถึงที่หมายกรณีไม่จำต้องปฏิบัติหน้าที่ถึงขนาดที่ผู้ตายจะต้องเดินทางไปถึงที่หมายและเริ่มลงมือเก็บเงินจากลูกค้าจริง ๆ ถือได้ว่าผู้ตายได้ประสบอันตรายโดยถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่โจทก์ที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างแล้วตามข้อ 2 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 โจทก์ที่ 1ซึ่งเป็นภริยาของผู้ตายจึงมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนตามกฎหมาย ส่วนคำพิพากษาฎีกาที่ 697/2522 ที่จำเลยอ้างมาในอุทธรณ์นั้น ในคดีดังกล่าวลักษณะและช่วงเวลาการทำงานของลูกจ้างไม่เหมือนกันกับคดีนี้
พิพากษายืน

Share