คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3152/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำอนุญาตให้ฎีกาของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นว่า ‘จำเลยเป็นข้าราชการ มีปัญหาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายควรศาลสูงจะได้พิจารณา จึงรับรองให้ฎีกาข้อเท็จจริงได้ด้วย’ นั้น ไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นเห็นว่าฎีกาข้อใดเป็นปัญหาข้อเท็จจริงอันเป็นปัญหาสำคัญควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาต ให้ฎีกา จึงเป็นคำอนุญาตที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221
จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนอกท้องสำนวนว่าจำเลยมีเจตนาในการกระทำผิด เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยพยานหลักฐานนอกไปจากที่ปรากฏในท้องสำนวน หากแต่ยกเอาถ้อยคำของพยานโจทก์และพยานจำเลยขึ้นมาประกอบเป็นข้อวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้อง ฎีกาของจำเลยซึ่งเป็นเรื่องจำเลยเห็นควรเชื่อตามพยานหลักฐานของจำเลย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง รวมทั้งฎีกาของจำเลยที่ว่า ตามพฤติการณ์แห่งคดีสมควรให้รอการลงโทษให้แก่จำเลย เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์จึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริงเช่นกัน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๕, ๙๑ และนับโทษจำเลยต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๓๐๖๙/๒๕๒๖ ของศาลอาญาธนบุรี
จำเลยไม่ได้ให้การ แต่นำสืบปฏิเสธความผิด ถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๕ จำคุก ๒ ปี คำเบิกความของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้หนึ่งในสามตามมาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลย ๑ ปี ๔ เดือน นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๓๐๖๙/๒๕๒๖ คดีหมายเลขแดงที่ ๑๔๑๒/๒๕๒๗ ของศาลอาญาธนบุรี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างและให้ลงโทษจำคุกจำเลย ๑ ปี ๔ เดือน นับโทษจำเลยต่อจากโทษคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๓๐๖๙/๒๕๒๖ คดีหมายเลขแดงที่ ๑๔๑๒/๒๕๒๗ ของศาลอาญาธนบุรี ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งลงชื่อในคำพิพากษา รับรองให้ฎีกาความว่า ‘จำเลยเป็นข้าราชการ มีปัญหาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายหมายควรศาลสูงจะได้พิจารณา จึงรับรองให้ฎีกาข้อเท็จจริงได้ด้วย’ ปัญหาว่าบันทึกของศาลชั้นต้นที่รับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เป็นการรับรองให้ฎีกาโดยชอบหรือไม่พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ตามฎีกาของจำเลยไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นเห็นว่าฎีกาข้อใดเป็นปัญหาข้อเท็จจริงอันเป็นปัญหาข้อสำคัญควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกาจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการอนุญาตโดยชอบ ศาลฎีกาไม่รับพิจารณา คดีจึงมีปัญหาว่าฎีกาของจำเลยเป็นปัญหาข้อกฎหมายหรือไม่
ตามฎีกาข้อ ๒ (ก) จำเลยอ้างว่าฎีกาของจำเลยเป็นปัญหาข้อกฎหมายเพราะศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนอกท้องสำนวนว่าจำเลยมีเจตนาในการกระทำผิด เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ ศาลฎีกาได้ตรวจคำเบิกความของพยานโจทก์จำเลยโดยตลอดแล้ว เห็นว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยพยานหลักฐานนอกไปจากที่ปรากฏในท้องสำนวน หรือยกเอาเรื่องนอกสำนวนขึ้นมาวินิจฉัยให้ขัดแย้งหรือฝ่าฝืนต่อคำพยานหลักฐานในท้องสำนวนประการใดเลย หากแต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกเอาถ้อยคำของพยานโจทก์และพยานจำเลยเหล่านั้นขึ้นมาประกอบเป็นข้อวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดจริงดังที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลย ฎีกาของจำเลยเป็นเรื่องจำเลยเห็นควรเชื่อตามพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และตามที่จำเลยฎีกาไว้ในข้อนี้สรุปใจความได้ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้พิพากษาให้รอการลงโทษให้จำเลยโดยคำนึงถึงเหตุตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ เป็นดุลพินิจที่คลาดเคลื่อนและตามพฤติการณ์แห่งคดีสมควรให้รอการลงโทษให้แก่จำเลย โดยอ้างว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายนั้นเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริงสำหรับฎีกาข้อ ๒ (ข) ที่จำเลยฎีกาว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกฟ้องนั้น เห็นว่า ต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน จึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ส่วนฎีกาข้อ ๒ (ง) ว่าจำเลยขาดเจตนาในการกระทำผิดนั้น เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมา เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงอีกเช่นกัน ฎีกาของจำเลยเป็นปัญหาข้อเท็จจริงดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วจึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ถ้าศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยยังจะมีความผิดอยู่ก็ขอศาลฎีกาลงโทษจำเลยสถานเบา ศาลฎีกาได้พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว เห็นว่า การกระทำผิดของจำเลยไม่ร้ายแรงนัก ทั้งจำเลยเป็นผู้ที่เคยมีคุณงานความดีมาก่อน จึงเห็นสมควรกำหนดโทษให้ต่ำลงตามรูปคดีตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๕/๒๕๒๓ ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดสุราษฎร์ธานี โจทก์ นายมโน ไกรวงศ์ กับพวก โจทก์ร่วม นางเชื้อ ศักดาจำเลย และคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๑๕๒/๒๕๒๙ ซึ่งจำเลยในคดีนี้เป็นจำเลยในคดีดังกล่าวด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย ๙ เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๖ เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share