คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1736/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่มาศาลตามกำหนดนัด และมีคำสั่งว่าให้ปรับนายประกันตามสัญญาประกัน ต่อมานายประกันนำตัวจำเลยที่ 2 ส่งศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าให้ยกคดีของจำเลยที่ 2 ขึ้นพิจารณาต่อไป จำเลยที่ 2 หลบหนีไป 1 ปีเศษ ศาลสั่งจำหน่ายคดีของจำเลยที่ 2 แล้วสืบพยานในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จำนวน 5 ปาก เมื่อได้ตัวจำเลยที่ 2 มาแล้ว ต้องสืบพยานดังกล่าวใหม่ทั้งหมด คำสั่งศาลชั้นต้นชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2540 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายฉุดลากนางสาวสายฝน เนตเพ็ง ผู้เสียหาย อายุ 22 ปี และจับผู้เสียหายกดนอนลงกับพื้น พร้อมกับกดคอ ปาก และข้อมือทั้งสองข้างของผู้เสียหายไว้ทำให้ผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ แล้วจำเลยทั้งสองผลัดกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่ของจำเลยทั้งสอง ในลักษณะเป็นการโทรมหญิง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง, 83
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง, 83 จำคุกคนละ 15 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษตามประมวลกฎหมาย มาตรา 78 ให้คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 10 ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว โจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ฎีกา คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยทั้งสองได้กระทำชำเราโจทก์ร่วม มีปัญหาข้อแรกต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าโจทก์ร่วมยินยอมให้จำเลยที่ 1 กระทำชำเรา ปัญหานี้โจทก์ร่วมเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุเมื่อร้านอาหารมายเวย์ปิดร้านเมื่อเวลา 1 นาฬิกา นายมะกับนายดำเพื่อนของจำเลยที่ 1 พานางสาวเสน่ห์เพื่อนของโจทก์ร่วมขึ้นรถจักรยานยนต์ออกไป โจทก์ร่วมจะตามไป แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยินยอม และอุ้มโจทก์ร่วมขึ้นรถจักรยานยนต์ โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับพาออกสู่ถนนสายเลี่ยงเมือง ขับวนไปมา และพาไปที่เชิงสะพานทางแยกวังกรด จำเลยที่ 2 จอดรถแล้วดึงโจทก์ร่วมลงจากรถจักรยานยนต์ จำเลยที่ 1 ช่วยดึงลงข้างทาง จำเลยที่ 2 จับมือทั้งสองข้างของโจทก์ร่วมกดไว้กับพื้น จำเลยที่ 1 ถอดกางเกงและกางเกงในของโจทก์ร่วมถึงบริเวณน่องพร้อมกับถลกเสื้อของโจทก์ร่วมขึ้นไปข้างบน จำเลยทั้งสองตกลงกันว่าใครจะข่มขืนโจทก์ร่วมก่อน จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ข่มขืนก่อน จำเลยที่ 1 ถอดเสื้อผ้าของตนออกทั้งหมด จากนั้นจำเลยที่ 1 เอาอวัยวะเพศของตนใส่ในอวัยวะเพศของโจทก์ร่วม ขยับขึ้นลงทำอยู่นาน ระหว่างถูกข่มขืนโจทก์ร่วมไม่ยินยอม แต่ก็ถูกจำเลยที่ 1 ต่อยที่ท้องและหน้าขา จำเลยที่ 1 กัดคอโจทก์ร่วมเป็นแผลและมีสีแดง เมื่อจำเลยที่ 1 สำเร็จความใคร่แล้ว จำเลยที่ 1 จับมือของโจทก์ร่วมกดไว้ จำเลยที่ 2 ข่มขืนโจทก์ร่วมโดยจำเลยที่ 2 ถอดเสื้อผ้าของตนทั้งหมดและนำอวัยวะเพศใส่ในอวัยวะเพศของโจทก์ร่วม จนจำเลยที่ 2 สำเร็จความใคร่แล้วผละตัวออก โจทก์ร่วมรู้สึกเจ็บที่อวัยวะเพศ หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองใส่เสื้อผ้า โจทก์ร่วมดึงกางเกงขึ้นมาแล้วออกวิ่งไปบนถนนใหญ่ จำเลยทั้งสองขับรถจักรยานยนต์ตาม ขณะนั้นนายสมเจต รักษธรรม ขับรถสามล้อติดเครื่องยนต์ผ่านมา โจทก์ร่วมจึงร้องให้ช่วยและแจ้งว่าถูกข่มขืน นายสมเจตพาโจทก์ร่วมไปส่งที่ปากทางเข้าบ้านของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมได้แจ้งความร้องทุกข์ในวันดังกล่าว คำเบิกความของโจทก์ร่วมมีนายสมเจตเบิกความรับกันว่าในวันเกิดเหตุพยานขับรถสามล้อติดเครื่องยนต์เพื่อรับจ้างขนปลาไปขายที่ตลาดสดในตัวเมืองพิจิตร เมื่อขับรถมาเกือบจะถึงสะพานข้ามทางรถไฟ เห็นผู้หญิงคนหนึ่งคือโจทก์ร่วมวิ่งอยู่กลางถนนสวนทางมาร้องขอความช่วยเหลือว่าถูกข่มขืน โจทก์ร่วมมีอาการหวาดกลัว ตัวสั่น เสียงสั่น พยานขับรถไปส่งโจทก์ร่วมที่ทางเข้าบ้านของโจทก์ร่วมนอกจากนี้โจทก์และโจทก์ร่วมยังมีนายประเสริฐ จิระพัฒน์สกุล แพทย์ผู้ตรวจร่างกายโจทก์ร่วมเบิกความประกอบรายงานการตรวจชันสูตรบาดแผลเอกสารหมาย จ.3 ว่า โจทก์ร่วมมีบาดแผลเป็นรอยปริ มีโลหิตซึมที่ปากช่องคลอดด้านหลัง รอยช้ำแดงรอบแคมใหญ่ขาอ่อนด้านขวา ด้านในมีรอยเขียวช้ำ ต้นคอซ้ายแดงและเขียว ช่องคลอดกว้างผิดปกติ หมายถึงว่าน่าจะมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งผ่านเข้าไปและสรุปว่าน่าจะเป็นการผ่านการร่วมเพศครั้งแรก เห็นว่า โจทก์ร่วมเป็นหญิงสาว ขณะเกิดเหตุมีอายุเพียง 22 ปี แม้เคยรู้จักจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 1 เป็นเพื่อนของอาโจทก์ร่วม แต่ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 มาก่อน จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้นำสืบว่าเคยมีเรื่องโกรธเคืองกับโจทก์ร่วม จึงไม่มีสาเหตุให้ระแวงสงสัยว่าโจทก์ร่วมจะเบิกความกลั่นแกล้งให้จำเลยที่ 1 ต้องได้รับโทษ ในคดีและความผิดเกี่ยวกับเพศโดยปกติหญิงสาวจะไม่กล่าวถึงเรื่องที่ตนเองถูกข่มขืนกระทำชำเราโดยผู้ชายหลายคน เพราะเป็นเรื่องเสียชื่อเสียงของตนเอง คำเบิกความของโจทก์ร่วมที่ยืนยันว่าไม่ได้ยินยอมให้จำเลยที่ 1 กับพวกกระทำชำเรามีเหตุมีผลน่าเชื่อเพราะตามทางนำสืบของโจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยที่ 1 ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ร่วมเป็นคนรักของจำเลยที่ 1 หรือเคยมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกันมาก่อน จึงไม่น่าเชื่อว่าโจทก์ร่วมจะยินยอมให้จำเลยที่ 1 กับพวกกระทำชำเราในวาระเดียวกันและต่อเนื่องกันเช่นนี้ ยิ่งเมื่อพิจารณาสถานที่เกิดเหตุตามภาพถ่ายประกอบคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.8 และบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุ คดีอาญาเอกสารหมาย จ.9 ปรากฏที่เกิดเหตุเป็นไหล่ถนนรอบเมืองบริเวณสะพานข้ามรางรถไฟอยู่นอกเขตชุมชนและนอกเขตเทศบาล บริเวณที่เกิดเหตุไม่มีบ้านผู้ใดอยู่ใกล้เคียง และตามภาพถ่ายหมาย จ.8 บริเวณไหล่ทางดังกล่าวมีหญ้าขึ้นรก ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ที่ว่าโจทก์ร่วมยินยอมให้กระทำชำเราในสถานที่ดังกล่าวจึงขัดต่อเหตุผล ผิดวิสัยของหญิงสาวที่จะยินยอมให้จำเลยที่ 1 กับพวกกระทำชำเราในสถานที่เปลี่ยวมืด สกปรก และน่ากลัวอันตรายเช่นนั้น ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ที่ว่าโจทก์ร่วมยินยอมให้จำเลยที่ 1 กับพวกกระทำชำเราจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ทั้งขัดกับบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.4 ที่จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพทันทีในวันเกิดเหตุ พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 1 นำสืบไม่สามารถฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วม ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ใช้กำลังประทุษร้ายจับมือของโจทก์ร่วมกดไว้กับพื้น เมื่อโจทก์ร่วมขัดขืน จำเลยที่ 1 ก็ใช้กำลังประทุษร้ายต่อยโจทก์ร่วมที่ท้องและหน้าขา และข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วม โดยจำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมก่อน แล้วจำเลยที่ 2 ข่มขืนกระทำชำเราต่อ ลักษณะการกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกดังกล่าวแสดงว่ามีเจตนาร่วมกันเป็นตัวการในการผลัดเปลี่ยนกันข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมด้วยกัน อันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อต่อไปที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า พยานโจทก์จำนวน 5 ปาก เบิกความปากละ 2 ครั้ง การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 187 หรือไม่ เห็นว่า ปัญหานี้แม้จำเลยที่ 1 เพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นควรรับวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏว่าระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น มีการออกหมายจับจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่มาศาลตามกำหนดนัด ตามหมายจับลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2540 และมีคำสั่งว่าให้ปรับนายประกันตามสัญญาประกัน ต่อมาวันที่ 25 มกราคม 2542 นายประกันนำตัวจำเลยที่ 2 ส่งศาลตามคำร้องลงวันที่ 25 มกราคม 2542 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องดังกล่าวในวันเดียวกันว่า ให้ยกคดีของจำเลยที่ 2 ขึ้นพิจารณาต่อไป จำเลยที่ 2 หลบหนีไป 1 ปีเศษ ศาลสั่งจำหน่ายคดีของจำเลยที่ 2 แล้วสืบพยานในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จำนวน 5 ปาก เมื่อได้ตัวจำเลยที่ 2 มาแล้วต้องสืบพยานดังกล่าวใหม่ทั้งหมด เห็นว่า คำสั่งศาลชั้นต้นชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้การพิจารณาและสืบพยานในศาลให้กระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลยทั้งกรณีของจำเลยที่ 2 ไม่อยู่ในข้อยกเว้นที่สามารถสืบพยานลับหลังจำเลยที่ 2 ได้ ที่ศาลชั้นต้นให้สืบพยานโจทก์ทั้งห้าปากใหม่จึงชอบแล้ว ไม่ทำให้จำเลยที่ 1 เสียเปรียบ ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 187 ที่จำเลยที่ 1 อ้างแต่อย่างใด”
พิพากษายืน.

Share