แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เดิมร. พ. และน. ร่วมกันแจ้งส.ค.1สำหรับที่ดินพิพาทต่อมาบุคคลทั้งสามร่วมกันยื่นคำขอออกน.ส.3ไว้แต่ทางราชการยังไม่ออกให้จนกระทั่งบุคคลทั้งสามถึงแก่กรรมไปก่อนโจทก์ที่1เป็นบุตรของร. และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของร. ตามคำสั่งศาลส่วนจำเลยที่ 1เป็นบุตรบุญธรรมของน. เมื่อโจทก์ที่1ร่วมเสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินพิพาทและจำเลยที่1เพิ่งจะเข้าไปทำประโยชน์เพียงส่วนน้อยซึ่งไม่ถึง1ใน3ของที่ดินพิพาทที่จำเลยที่1มีส่วนอยู่แม้จำเลยที่1ยื่นคำขอออกโฉนดในที่ดินพิพาทและลงประกาศหนังสือพิมพ์เอาที่ดินพิพาทเป็นของตนแต่ผู้เดียวก็ไม่ทำให้เกิดสิทธิใดๆขึ้นใหม่แก่จำเลยที่1โดยเฉพาะการที่จำเลยที่1คัดค้านมิให้แนวเขตที่ดินราชพัสดุรุกล้ำเข้ามาในที่ดินพิพาทเป็นการกระทำในทางจัดการเพื่อรักษาทรัพย์สินโดยใช้สิทธิต่อสู้บุคคลภายนอกซึ่งเจ้าของรวมคนใดคนหนึ่งมีอำนาจกระทำได้ถือไม่ได้ว่าเป็นการแย่งการครอบครองจากเจ้าของรวมคนอื่น
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า นายรุ่น ณ ถลาง นายพัฒน์ มากสินและนายหนู มากสิน ร่วมกันครอบครองเป็นเจ้าของที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) จำเลยที่ 1 เป็นบุตรบุญธรรมของนายหนู ต่อมาปี 2509 บุคคลทั้งสามได้ร่วมกันยื่นคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินดังกล่าว ครั้นปี 2519นายรุ่นถึงแก่กรรม โจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกนายรุ่นตามคำสั่งศาล ส่วนนายพัฒน์ถึงแก่กรรมเมื่อปี 2518 โจทก์ที่ 2เป็นผู้จัดการมรดกนายพัฒน์ตามคำสั่งศาล โจทก์ที่ 1 และที่ 2ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวร่วมกับนายหนูจนกระทั่งนายหนูถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิในที่ดินดังกล่าวเพียง 1 ใน 3 ต่อมาเมื่อเดือนมกราคม 2533 จำเลยที่ 1ยื่นคำขอออกโฉนดในที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวโจทก์ทั้งสองไปคัดค้านขอให้ระงับ ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าวรวมกัน 2 ใน 3 ส่วนให้ศาลมีคำสั่งห้ามจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 และบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า หลังจากนายรุ่น และนายพัฒน์ถึงแก่กรรมแล้ว จำเลยที่ 1 เคยไปชักชวนทายาทของบุคคลทั้งสองให้ร่วมกันเข้าทำประโยชน์หรือออกค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาที่ดินพิพาท แต่ทายาทของบุคคลทั้งสองปฏิเสธและบอกสละสิทธิในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 หลังจากนายหนู (บิดาจำเลยที่ 1)ถึงแก่กรรมเมื่อปี 2527 แล้ว จำเลยที่ 1 เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวตลอดมา จำเลยที่ 1เคยยื่นคำขอรังวัดเพื่อออกโฉนดในที่ดินพิพาท โจทก์ทั้งสองไปยื่นคำคัดค้านและทราบถึงการเข้าครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันยื่นคำคัดค้าน แต่โจทก์ทั้งสองไม่ได้ฟ้องร้องเอาที่ดินพิพาทคืนภายใน 1 ปี นับแต่วันทราบถึงการถูกแย่งการครอบครองจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง และห้ามโจทก์ทั้งสองเข้ายุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาทอีกต่อไป
จำเลยที่ 2 และที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ให้การว่า ที่ดินพิพาทไม่ได้เป็นของโจทก์ทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1ไม่เคยแสดงเจตนาว่าจะครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตนเอง และฝ่ายโจทก์ไม่เคยสละสิทธิในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นจำเลยที่ 7 ถึงแก่กรรมนายกิจติ พุฒิกรดุรงค์ บุตรซึ่งเป็นทายาทยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทจำนวน 1 ใน 5 ส่วน จากจำนวน1 ใน 3 ส่วนของจำนวนที่ดินพิพาททั้งหมด ห้ามโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 2ถึงที่ 7 และบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไปยกฟ้องของโจทก์ที่ 2
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองห้ามโจทก์ทั้งสองยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท
โจทก์ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ว่าโจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายรุ่น ณ ถลาง หรืออีกนัยหนึ่งกองมรดกของนายรุ่นมีส่วนเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท 1 ใน 3 ส่วนหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อปี 2498 นายรุ่น นายพัฒน์และนายหนูร่วมกันแจ้ง ส.ค.1 สำหรับที่ดินพิพาทตามสำเนา ส.ค.1เอกสารหมาย จ.2 ต่อมาปี 2509 บุคคลทั้งสามร่วมกันยื่นคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวตามสำเนาคำขอเอกสารหมาย จ.3 แต่มีปัญหาว่าอาจทับที่ดินราชพัสดุ และยังไม่ทราบแนวเขตที่ดินราชพัสดุอย่างแน่ชัด เป็นเหตุให้ไม่สามารถออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ บุคคลทั้งสามได้ร่วมกันร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อทางราชการหลายครั้งตามสำเนาหนังสือร้องเรียนเอกสารหมาย จ.4 จ.5 จ.6 และ จ.8 แต่ก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้จนกระทั่งปี 2515 บุคคลทั้งสามได้ร่วมกันยื่นคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์อีกครั้งหนึ่งตามสำเนาคำขอเอกสารหมาย จ.12 ทางราชการสอบสวนพิสูจน์สิทธิแล้วบันทึกความเห็นไว้ในสำเนาเอกสารหมาย จ.13 แผ่นที่ 2 ด้านหลังว่า ควรออก น.ส.3ให้ได้ แต่ก็ยังไม่มีการออก น.ส.3 จนกระทั่งปี 2518 นายพัฒน์ถึงแก่กรรม ปี 2519 นายรุ่นถึงแก่กรรม ปี 2527 นายหนูถึงแก่กรรม โจทก์ที่ 1 เป็นบุตรของนายรุ่น และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของนายรุ่นตามสำเนาคำสั่งศาลเอกสารหมาย จ.1จำเลยที่ 1 เป็นบุตรบุญธรรมของนายหนู ดังนี้ โจทก์ที่ 1ในฐานะทายาทและผู้จัดการมรดกของนายรุ่นย่อมมีสิทธิที่จะดำเนินการต่อจากนายรุ่นเพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือ น.ส.3 จนสำเร็จเสร็จสิ้น แต่โจทก์ที่ 1 ยังไม่ได้เข้าสวมสิทธิดำเนินการดังกล่าว ต่อมาปรากฏว่า เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2533จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอออกโฉนดในที่ดินพิพาทตามสำเนาคำขอเอกสารหมายจ.14 รับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 ก็ร่วมเสียภาษีบำรุงท้องที่ด้วยข้อที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าจำเลยที่ 1 เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแต่ผู้เดียว ก็ยังเป็นปัญหาโดยนายคล่อง คล่องแคล่วพยานจำเลยที่ 1 เบิกความว่า พยานมีบ้านอยู่ใกล้กับที่ดินพิพาทเมื่อ 4-5 ปีมาแล้ว ซึ่งประมาณได้ว่าเมื่อปี 2531 หรือ 2532พยานเห็นจำเลยที่ 1 เข้าไปปลูกต้นผลไม้ในที่ดินพิพาทโดยปลูกต้นมะม่วงหิมพานต์ 20-30 ไร่ ปลูกต้นจาก ต้นสาคูและมะพร้าว20 ไร่เศษ จำเลยที่ 6 เข้าไปปลูกต้นไม้ประมาณ 30 ไร่ โจทก์ทั้งสองเข้าไปปลูกต้นผลไม้ 30-40 ไร่ ซึ่งเป็นคนละแห่งกับจำเลยที่ 1ตามคำเบิกความของนายคล่องนี้มีผู้เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท3 ฝ่าย คือโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 6 ต่างเข้าไปทำประโยชน์คนละแห่งกัน เฉพาะส่วนที่จำเลยที่ 1 เข้าไปทำประโยชน์รวมเป็นเนื้อที่อย่างมาก 50 ไร่เศษ แต่ตามสำเนาแผนที่เอกสารหมายล.10 หรือแผนที่เอกสารหมาย จ.15 แผ่นที่ 3 ระบุว่าที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ถึง 170 ไร่เศษ พิจารณาภาพถ่ายหมาย ล.1 ล.2 ล.11และ ล.23 จะเห็นที่ดินพิพาทมีสภาพเป็นป่า ทั้งที่ได้ถางไปบ้างแล้วดังนี้ ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 จะได้เข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งแปลงแต่ผู้เดียว จะรับฟังได้ก็แต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 เพิ่งจะเข้าไปทำประโยชน์และในส่วนน้อยซึ่งไม่ถึง 1 ใน 3 ของที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 มีส่วนอยู่กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่า จำเลยที่ 1 แย่งการครอบครองที่ดินพิพาทไปจากโจทก์ที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอออกโฉนดในที่ดินพิพาทและลงประกาศหนังสือพิมพ์เอาที่ดินพิพาทเป็นของตนแต่ผู้เดียวไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ ขึ้นใหม่แก่จำเลยที่ 1 โดยเฉพาะการที่จำเลยที่ 1 คัดค้านมิให้แนวเขตที่ดินราชพัสดุรุกล้ำเข้ามาในที่ดินพิพาท เป็นการกระทำในทางจัดการเพื่อรักษาทรัพย์สินโดยใช้สิทธิต่อสู้บุคคลภายนอก ซึ่งเจ้าของรวมคนใดคนหนึ่งก็มีอำนาจกระทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1358, 1359ไม่อาจถือได้ว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการแย่งการครอบครองจากเจ้าของรวมคนอื่น โจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายรุ่นหรือกองมรดกของนายรุ่นยังไม่เสียสิทธิในที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 แนบสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาอีกคดีหนึ่งมาท้ายคำแก้ฎีกาปรากฏว่าคดีนั้นจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 กับพวกเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1โดยโจทก์ที่ 1 ไม่ได้เป็นคู่ความด้วย และโจทก์ในคดีนั้นฟ้องว่าจำเลยที่ 1 แย่งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ในคดีนั้นขอให้คืนที่ดินทั้งแปลงแก่โจทก์คดีนั้น แต่คดีนี้เป็นปัญหาพิพาทระหว่างผู้เป็นเจ้าของรวมด้วยกัน รูปคดีและข้อเท็จจริงจึงแตกต่างกันฎีกาของโจทก์ที่ 1 ฟังขึ้น ข้ออื่น ๆ ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย”
พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายรุ่น ณ ถลาง หรือกองมรดกของนายรุ่น ณ ถลาง มีสิทธิในที่ดินพิพาทตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 168หมู่ที่ 5 ตำบลท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงาตามสำเนา ส.ค.1 เอกสารหมาย จ.2 ปรากฏรูปที่ดินพิพาทในกรอบเส้นสีดำหรือสีแดงในแผนที่เอกสารหมาย จ.15 แผ่นที่ 3 หรือสำเนาแผนที่เอกสารหมาย ล.10 ซึ่งมีเนื้อที่ดิน 170 ไร่ 2 งาน88 เศษ 3 ส่วน 10 ตารางวา โดยมีสิทธิ 1 ใน 3 ส่วน ของที่ดินดังกล่าว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3