คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1728/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาเช่าซื้อกำหนดให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อทุกวันที่ 15 ของเดือน โจทก์ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อโดยตลอด แต่เมื่อโจทก์ชำระค่าเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 รับไว้และนำส่วนหนึ่งไปหักเป็นดอกเบี้ยของการชำระค่างวดล่าช้า แสดงว่าคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นข้อสำคัญ การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อจึงต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 โดยบอกกล่าวให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อภายในกำหนดเวลาที่สมควรก่อน เมื่อจำเลยที่ 1 มีหนังสือเตือนให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้าง หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 มีหนังสือบอกเลิกสัญญาโดยให้ระยะเวลาชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างภายใน 7 วัน ถือได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาของจำเลยที่ 1 ที่ให้ระยะเวลาชำระหนี้แก่โจทก์พอสมควรแล้ว จึงเป็นการเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบ
โจทก์เป็นลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อจะขอบังคับให้เจ้าหนี้รับชำระหนี้แต่เพียงบางส่วน โดยเจ้าหนี้ไม่ยินยอมหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้เจ้าพนักงานออกสมุดคู่มือจดทะเบียนแทนให้ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์ภายใน 15 วัน หากไม่ดำเนินการขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งและแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งขอให้บังคับให้โจทก์ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจำเลยที่ 1 ในสภาพเรียบร้อย หากไม่ส่งมอบคืนให้โจทก์ชดใช้ราคารถยนต์เป็นเงิน 499,232 บาท และให้ชำระค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 27,000 บาท รวมเป็นเงิน 526,232 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี กับชำระค่าขาดประโยชน์อีกเดือนละ 3,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่จำเลยที่ 1
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งและแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งจำเลยที่ 2 บังคับตามฟ้องแย้งจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ส่งมอบรถบรรทุก หมายเลขทะเบียน 81 – 1947 ศรีสะเกษ คืนแก่จำเลยที่ 1 ในสภาพเรียบร้อย พร้อมค่าเสียหายเป็นเงิน 39,000 บาท หากส่งมอบไม่ได้ ให้ใช้ราคาแทน 280,000 บาท พร้อมค่าเสียหายจำนวนดังกล่าว ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมตามฟ้องแย้งแทนจำเลยที่ 1 กำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2546 โจทก์ตกลงกับจำเลยที่ 1 ในการทำสัญญาเช่าซื้อรถบรรทุกหกล้อ หมายเลขทะเบียน 81 – 1947 ศรีสะเกษ ในราคา 806,480 บาท ชำระเงินในวันทำสัญญา 170,000 บาท ราคาเช่าซื้อที่เหลือ 636,480 บาท ตกลงผ่อนชำระเดือนละ 13,260 บาท รวม 48 เดือน เริ่มงวดแรกวันที่ 15 มกราคม 2547 และทุกวันที่ 15 ของเดือนถัดไป มีนายณัฐวุฒิ เป็นผู้ค้ำประกัน โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยที่ 1 แต่ในสัญญาเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 จัดทำระบุว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ให้เช่าซื้อ และตามรายการจดทะเบียนรถยนต์มีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่โจทก์เช่าซื้อจากจำเลยที่ 1
ปัญหาที่เห็นสมควรหยิบยกมาวินิจฉัยเสียก่อนว่าโจทก์ผิดสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้ขาดส่งค่าเช่าซื้อติดต่อกัน 3 เดือน จำเลยที่ 1 ไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระหนี้เป็นสาระสำคัญ จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญา โดยโจทก์ยังไม่ผิดนัดเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยไม่ชอบ เมื่อจำเลยที่ 1 ยังรับชำระค่าเช่าซื้อโดยไม่ถือเอากำหนดเวลาเป็นสาระสำคัญ จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญานั้น เห็นว่า ตามสัญญาเช่าซื้อกำหนดให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อทุกวันที่ 15 ของเดือน เริ่มแต่วันที่ 15 มกราคม 2547แต่นายไพรัช หุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 และผู้รับมอบอำนาจจำเลยทั้งสองเบิกความเป็นพยานจำเลยว่า โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อแล้ว 307,248 บาท ยังค้างอีก 499,232 บาท ตามรายละเอียดการชำระงวด และตามรายการชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อโดยตลอด แต่ข้อเท็จจริงได้ความด้วยว่า เมื่อโจทก์ชำระค่าเช่าซื้อมา จำเลยที่ 1 รับไว้ และนำเงินส่วนหนึ่งไปหักเป็นดอกเบี้ยของการชำระค่างวดล่าช้า แสดงว่าคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นข้อสำคัญ การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อจึงต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 โดยบอกกล่าวให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อภายในกำหนดเวลาที่สมควรก่อน ซึ่งปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีหนังสือลงวันที่ 1 สิงหาคม 2548 เตือนให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างตั้งแต่งวดที่ 11 ถึงงวดที่ 19 ภายในวันที่ 8 สิงหาคม 2548 หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 มีหนังสือลงวันที่ 16 สิงหาคม 2548 บอกเลิกสัญญาโดยให้ระยะเวลาชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างภายใน 7 วัน ถือได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาของจำเลยที่ 1 ที่ให้ระยะเวลาชำระหนี้แก่โจทก์พอสมควรแล้ว จึงเป็นการเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบ ที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ไม่ได้ค้างค่าเช่าซื้อ 3 งวดติดต่อกัน และได้รับความคุ้มครองตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยไว้ชัดแจ้งแล้วว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อในคดีนี้ไม่อยู่ในความหมายของ “รถยนต์” ตามประกาศดังกล่าว อีกทั้งการที่โจทก์เสนอชำระหนี้เพียง 170,000 บาท ตามที่กล่าวในฟ้อง หรือเสนอชำระหนี้ 200,000 บาท ตามที่โจทก์เบิกความ โดยที่ราคาเช่าซื้อตามสัญญายังขาดอยู่กว่า 400,000 บาท นั้น มิใช่เป็นการขอปฏิบัติชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้โดยชอบ โจทก์เป็นลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อจะขอบังคับให้เจ้าหนี้รับชำระหนี้แต่เพียงบางส่วน โดยเจ้าหนี้ไม่ยินยอมหาได้ไม่ โจทก์จึงผิดสัญญาเช่าซื้อ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในข้ออื่นต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share