แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์ยื่นใบลาหยุดพักผ่อนวันที่ 21 ถึง 25 กุมภาพันธ์ 2526 แต่ผู้จัดการให้โจทก์เลื่อนการลาหยุดพักผ่อนไปก่อนเพราะบริษัทมีงานค้างมาก โจทก์จึงได้แก้วันที่ขอลาหยุดเป็นวันที่ 1 ถึง 7 มีนาคม 2526 ผู้จัดการเซ็นคำสั่งไม่อนุมัติเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2526 ภายหลังจากวันโจทก์ยื่นใบลา แล้วโจทก์หยุดงานไปโดยเข้าใจว่าได้รับอนุมัติให้ลาได้ นั้น เมื่อข้อบังคับของจำเลยระบุว่า การขอลาหยุดพักผ่อนประจำปี ลูกจ้างจะหยุดได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากผู้จัดการแล้ว ฉะนั้น การที่โจทก์หยุดงานไปดังกล่าวจึงเป็นการไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อบังคับ ถือได้ว่าเป็นการละทิ้งการงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์หยุดพักผ่อนโดยไม่ได้รับอนุมัติจากผู้จัดการ อันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลย และอาจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายได้ จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุผลที่สมควรถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม
อุทธรณ์ที่ว่า ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงขัดแย้งกับเอกสารนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงาน จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ปรากฏสาเหตุความผิด ไม่บอกกล่าวล่วงหน้า และไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยชำระค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา ๗ วัน ทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปีโดยไม่ทราบว่าจำเลยมีคำสั่งไม่อนุมัติให้ลา เป็นการละทิ้งหน้าที่ ๓ วันทำงานติดต่อกันโดยมีเหตุสมควร จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ตามกฎหมาย แต่การที่โจทก์หยุดพักผ่อนโดยจำเลยไม่ได้อนุมัติให้ลาตามระเบียบของจำเลย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ถือว่าเป็นการละทิ้งการงานไปเสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายแก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชยแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ จำเลย อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๕๘๓ บัญญัติว่า “ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดีหรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดีท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้”คำว่า “ละทิ้งการงานไปเสีย” หมายถึงการที่ลูกจ้างขาดงานไปโดยมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบแบบแผนหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่า เดิมโจทก์ยื่นใบลาหยุดพักผ่อนวันที่ ๒๑ ถึง ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖นายสมพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายขายให้โจทก์เลื่อนการลาหยุดไปก่อนเพราะบริษัทมีงานค้างมาก โจทก์ได้แก้วันที่ขอลาหยุดเป็นวันที่ ๑ ถึง ๗ มีนาคม ๒๕๒๖ นายสมพันธ์เซ็นคำสั่งไม่อนุมัติเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖ ภายหลังจากวันที่โจทก์ยื่นใบลา โจทก์หยุดงานไปโดยเข้าใจว่าได้รับอนุมัติให้ลาได้ แต่ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยระบุว่า การขอลาหยุดพักผ่อนประจำปี ลูกจ้างจะหยุดได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากผู้จัดการฝ่ายขายของตนแล้ว ฉะนั้นการที่โจทก์หยุดงานโดยมิได้รับอนุมัติจากผู้จัดการฝ่ายขายของตนให้ลาหยุดได้จึงเป็นการไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ถือได้ว่าเป็นการละทิ้งการงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์แต่อย่างใด
จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์หยุดพักผ่อนโดยไม่ได้รับอนุมัติให้ลาหยุดจากผู้จัดการฝ่ายขาย เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยเกี่ยวกับการทำงาน และอาจจะทำให้จำเลยได้รับความเสียหายได้ มิใช่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงขัดแย้งกับเอกสารจึงเป็นการคลาดเคลื่อนนั้น อุทธรณ์จำเลยดังกล่าวเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน