แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์กับป. อยู่กินฉันสามีภริยามาก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ5พ.ศ.2477ใช้บังคับจึงเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายลักษณะผัวเมียที่ดินพิพาทโจทก์กับป. ได้มาเมื่อปี2491เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับป. การจัดการสินสมรสดังกล่าวต้องบังคับตามบทบัญญัติบรรพ5แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์พ.ศ.2477มาตรา1468,1473และมาตรา1462อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่ได้ที่ดินพิพาทมาที่ดินพิพาทจึงเป็นสินบริคณห์เมื่อไม่ปรากฏว่ามีสัญญาก่อนสมรสกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นป. ย่อมมีอำนาจจัดการสินบริคณห์เองได้แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ5ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ.2519มาตรา1476จะบัญญัติว่านอกจากสัญญาก่อนสมรสจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นสามีและภริยาเป็นผู้จัดการสินสมรสร่วมกันและมาตรา1480วรรคสองบัญญัติว่าในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปโดยปราศจากความยินยอมตามวรรคหนึ่งคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ก็ตามแต่การใช้บทบัญญัติในบรรพ5ที่ได้ตรวจชำระใหม่ต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติในมาตรา7ของพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ5แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ.2519ป. สามีโจทก์จึงยังคงมีอำนาจจัดการสินบริคณห์รายนี้ได้ต่อไปตามที่มาตรา7ของพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ5แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ.2519บัญญัติไว้และอำนาจจัดการนั้นมาตรา1477ที่ได้ตรวจชำระใหม่บัญญัติไว้ว่าให้รวมถึงอำนาจจำหน่ายด้วย ป. สามีโจทก์มีอำนาจจำหน่ายที่ดินพิพาทได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ก่อนการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างป. กับจำเลยจึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายโจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะมาฟ้องขอเพิกถอน การสมรสระหว่างโจทก์กับป. ชอบด้วยกฎหมายลักษณะผัวเมียแล้วแม้ต่อมาโจทก์กับป. ได้จดทะเบียนสมรสกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในปี2522ย่อมไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับป. ในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินเปลี่ยนแปลงไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์แต่งงานตามประเพณีกับนายปรุง ประทับวงศ์เมื่อโจทก์อายุ 25 ปี และจดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี 2522ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 362 โจทก์และนายปรุงได้มาระหว่างอยู่กินเป็นสามีภริยากัน เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2531 นายปรุงจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอม ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 362 ระหว่างนายปรุงกับจำเลย เฉพาะส่วนที่ดินของโจทก์ครึ่งหนึ่ง และให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวครึ่งหนึ่งให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หากไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 500,000 บาท
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่สินสมรสของนายปรุงกับโจทก์เพราะนายปรุงซื้อมาก่อนแต่งงานอยู่กินกับโจทก์ โจทก์รู้เห็นและมิได้คัดค้านการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนายปรุงกับจำเลยขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์กับนายปรุงอยู่กินฉันสามีภริยากันก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2478 มีบุตร 4 คน คือนายปลิว นางไพบูลย์ นายประยงค์ และนางพเยาว์ เมื่อวันที่12 เมษายน 2491 มีชื่อนายปรุงสามีโจทก์ ซื้อที่ดินพิพาทจากนายเคลิ้ม พรรณโภชน์ วันที่ 12 กันยายน 2522 โจทก์กับนายปรุงจดทะเบียนสมรสกัน วันที่ 29 เมษายน 2531 นายปรุงจดทะเบียนโอนขานที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย วันที่ 2 พฤศจิกายน 2532นายปรุงถึงแก่ความตาย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนายปรุงกับจำเลยได้หรือไม่ เห็นว่าโจทก์กับนายปรุงอยู่กินฉันสามีภริยามาก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 พ.ศ. 2477 ใช้บังคับจึงเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายลักษณะผัวเมียที่ดินพิพาทโจทก์กับนายปรุงได้มาเมื่อปี 2491 จึงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนายปรุง การจัดการสินสมรสดังกล่าวต้องบังคับตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2477อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่ได้ที่ดินพิพาทมา ซึ่งตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว มาตรา 1468 บัญญัติว่า “สามีเป็นผู้จัดการสินบริคณห์ เว้นแต่ในสัญญาก่อนสมรสจะได้กำหนดให้ภริยาเป็นผู้จัดการหรือให้จัดการร่วมกัน” และมาตรา 1473 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า”นอกจากจะมีสัญญาก่อนสมรสไว้เป็นอย่างอื่น สามีมีอำนาจจำหน่ายสินบริคณห์ได้” ซึ่งสินบริคณห์ตามมาตรา 1462 ได้แก่สินเดิมและสินสมรส ดังนั้น ที่ดินพิพาทอันเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนายปรุงจึงเป็นสินบริคณห์ เมื่อไม่ปรากฏว่ามีสัญญาก่อนสมรสกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น นายปรุงย่อมมีอำนาจจัดการสินบริคณห์เองได้ แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มาตรา 1476 จะบัญญัติว่า”นอกจากสัญญาก่อนสมรสจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น สามีและภริยาเป็นผู้จัดการสินสมรสร่วมกัน” และมาตรา 1480 วรรคสอง บัญญัติว่า”ในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปโดยปราศจากความยินยอมตามวรรคหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้” ก็ตาม แต่พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519มาตรา 7 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงอำนาจจัดการสินบริคณห์ที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มีอยู่แล้วในวันใช้บังคับบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้และวรรคสองก็บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดเป็นผู้จัดการสินบริคณห์แต่ฝ่ายเดียว ให้ถือว่าคู่สมรสอีกฝ่ายได้ยินยอมให้คู่สมรสฝ่ายนั้นจัดการสินสมรสและสินส่วนตัวตามวรรคหนึ่งของตนด้วย” ดังนั้น การใช้บทบัญญัติในบรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่จึงต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติในมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519นายปรุงเป็นสามีโจทก์มีอำนาจจัดการเกี่ยวกับที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินบริคณห์อยู่ก่อนวันใช้บังคับบทบัญญัติ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ จึงยังคงมีอำนาจจัดการสินบริคณห์รายนี้ได้ต่อไปตามที่มาตรา 7 ของพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 บัญญัติไว้และอำนาจจัดการนั้น มาตรา 1477 ที่ได้ตรวจชำระใหม่บัญญัติไว้ว่า ให้รวมถึงอำนาจจำหน่ายด้วย ฉะนั้น นายปรุงซึ่งเป็นสามีโจทก์จึงมีอำนาจจำหน่ายที่ดินพิพาทได้ ทั้งที่ดินพิพาทมิใช่สินเดิมของโจทก์หรือสินสมรสที่โจทก์ได้มาโดยทางยกให้หรือพินัยกรรมและการจำหน่ายมิใช่เป็นการให้โดยเสน่หา นายปรุงจึงไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ก่อน ทั้งนี้ไม่เป็นการจัดการที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติในมาตรา 1473 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 พ.ศ. 2477 การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนายปรุงกับจำเลยจึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะมาฟ้องขอเพิกถอน ส่วนที่โจทก์ฎีกา การที่โจทก์กับนายปรุงจดทะเบียนสมรสกันในปี 2522 ภายหลังจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ใช้บังคับแล้ว เท่ากับมีเจตนาที่จะปฏิบัติตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่จดทะเบียนสมรสการจัดการสินสมรสจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มาตรา 1476 และมาตรา 1480นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2477 มาตรา 4(1) บัญญัติว่า”บทบัญญัติแห่งบรรพนี้ไม่กระทบกระเทือนถึงการสมรสซึ่งได้มีอยู่ก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายบรรพนี้ และทั้งสัมพันธ์ในครอบครัวอันเกิดแต่การสมรสนั้น ๆ” ฉะนั้นการสมรสระหว่างโจทก์กับนายปรุงจึงยังชอบด้วยกฎหมายอยู่ต่อไปแม้จะมิได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ. 2519 มาตรา 4 ก็ได้บัญญัติว่า “บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงบทบัญญัติมาตรา 4 และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2477” ดังนั้น เมื่อการสมรสระหว่างโจทก์กับนายปรุงชอบด้วยกฎหมายดังที่ได้วินิจฉัยข้างต้น การที่โจทก์กับนายปรุงจดทะเบียนสมรสกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในปี 2522 ย่อมไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับนายปรุงในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินเปลี่ยนแปลงไป และเมื่อโจทก์กับนายปรุงได้ที่ดินพิพาทมาเมื่อปีพ.ศ. 2491 การจัดการที่ดินพิพาทอันเป็นสินสมรสจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2477อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่ได้ที่ดินพิพาทมา หาใช่ต้องใช้บังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ. 2519 ตามที่โจทก์ฎีกาไม่
พิพากษายืน