แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การขออายัดที่ดินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 83 นั้น เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่รับอายัดไว้แล้ว ผู้ขออายัดต้องไปดำเนินคดีทางศาลภายในเวลาที่รับอายัดไว้ ถ้าไม่ดำเนินคดีทางศาล การอายัดนั้นก็สิ้นผลเมื่อพ้นเวลาที่รับอายัด แต่ถ้าผู้ขออายัดไปดำเนินคดีทางศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าว การอายัดก็ยังคงมีผลอยู่ต่อไป จนกว่าศาลจะมีคำสั่งหรือพิพากษาแล้ว คำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 189/2498 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2498 ข้อ 7 ไม่ขัดต่อประมวลกฎมายที่ดินหรือ ป.วิ.พ. แต่อย่างใด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายฟัก พัดบุญมา ตามคำสั่งศาลเจ้ามรดกมีที่ดิน ๒ แปลง โจทก์ประสงค์จะขายที่ดินดังกล่าวเพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้แต่ปรากฏว่านายต่าย ช้างแก้ว ผู้ปกครองของผู้เยาว์ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกได้ขออายัดไว้ต่อจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ จำเลยรับอายัดไว้มีกำหนด ๖๐ วัน เมื่อพ้นกำหนดที่จำเลยรับอายัดแล้วโจทก์กับพวกจะจดทะเบียนซื้อขายที่ดินมรดก จำเลยไม่ยอมดำเนินการให้ อ้างว่านายต่ายได้ฟ้องโจทก์ต่อศาลแล้ว การอายัดยังคงมีผลอยู่ โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดของจำเลยเสีย
จำเลยให้การว่า เหตุที่ไม่ยอมทำนิติกรรมซื้อขายให้โจทก์เพราะนายต่ายผู้ปกครองผู้เยาว์ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกขออายัดที่ดินไว้ จำเลยรับอายัด ๖๐ วัน เมื่อนายต่ายนำหลักฐานการฟ้องคดีต่อศาลมาแสดง จำเลยก็สั่งว่าการอายัดคงมีต่อไปตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ ๑๘๙/๒๔๙๘ ลงวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ ข้อ ๓ และ ข้อ ๗ จำเลยปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบข้อบังคับของทางราชการโดยสุจริต จึงไม่เป็นละเมิด ขอให้ยกฟ้อง
ในวันชี้สองสถานโจทก์รับข้อเท็จจริงตามคำให้การของจำเลย แต่คัดค้านว่าคำสั่งของกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งประมวลกฎหมายที่ดิน จำเลยจะอาศัยคำสั่งนั้นขยายระยะเวลาอายัดเกิน ๖๐ วันไม่ได้ ขอให้วินิจฉัยปัญหาข้อนี้เพียงข้อเดียว
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๘๓ ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่รับอายัดไว้ไม่เกิน ๖๐ วันนับแต่วันขออายัดเป็นการตัดสิทธิของเจ้าของที่ดินจึงฟ้องคดีต่อศาลไม่เป็นเหตุให้การอายัดยังคงมีอยู่ต่อไป เพราะผู้ฟ้องคดีอาจใช้วิธีการชั่วคราวก่อนคำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่สั่งให้ที่ดินมรดกตกอยู่ในการอายัดเสีย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามที่คู่ความรับกันว่า โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายฟัก ประสงค์จะขายที่ดินมรดกเอาเงินมาชำระหนี้เจ้ามรดก นายต่ายผู้ปกครองผู้เยาว์ซึ่งเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกขออายัดที่ดินดังกล่าวไว้ จำเลยซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการรับอายัดไว้มีกำหนด ๖๐ วัน นายต่ายยื่นฟ้องต่อศาลขอถอนโจทก์จากผู้จัดการมรดก แล้วนำหลักฐานแสดงต่อจำเลยเพื่อสั่งให้การอายัดมีผลต่อไป จำเลยสั่งให้การอายัดมีผลต่อไป ทั้งนี้โดยอาศัยคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ ๑๘๙/๒๔๙๘ ลงวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ ข้อ ๗
ปัญหาว่าคำสั่งของกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวขัดต่อประมวลกฎหมายที่ดินและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๘๓ มีความหมายว่าเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่รับอายัดไว้แล้ว ผู้ขออายัดต้องไปดำเนินคดีทางศาลภายในเวลาที่รับอายัดไว้ ถ้าไม่ดำเนินคดีทางศาลการอายัดก็สิ้นผลเมื่อพ้นเวลาที่รับอายัด แต่ถ้าผู้ขออายัดไปดำเนินคดีทางศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการต่อไปสำหรับที่ดินที่รับอายัดไว้นั้นได้ก็ต่อเมื่อศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาแล้วหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งหากศาลยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษา พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ไม่มีอำนาจดำเนินการอะไรต่อไปได้เพราะการอายัดยังคงมีอยู่ต่อไปไม่สิ้นผลเหมือนกับกรณีที่ผู้ขออายัดไม่ดำเนินคดีทางศาลดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้ตามความในตอนท้ายของวรรคสองของมาตรา ๘๓ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินนั่นเอง ฉะนั้นที่จำเลยสั่งให้การอายัดที่ดินมรดกของนายฟักมีผลต่อไปจึงชอบแล้ว คำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ ๑๘๙/๒๔๙๘ ลงวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ เรื่องการอายัดที่ดินข้อ ๗ มิได้ขัดต่อประมวลกฎหมายที่ดินหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของจำเลย ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับ เป็นให้ยกฟ้องโจทก์