แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2คู่กรณีมีเจตนามุ่งหมายที่จะระงับข้อพิพาทที่จำเลยที่ 2 มีหน้าที่จะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายร่วมกับจำเลยที่ 1 ใน ฐานะที่เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ในทางการที่จ้าง จึงมีผลให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 2 ในมูลละเมิดระงับสิ้นไปโดยโจทก์ได้สิทธิเรียกร้องใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นจำเลยที่ 3 มิได้ร่วมลงชื่อด้วยจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยจึงยังต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยต่อโจทก์จนกว่าโจทก์จะได้รับการชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยครบถ้วนตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
โจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงประนีประนอมยอมความกันโดยโจทก์ยอมรับค่าเสียหายเพียง 17,500 บาท จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนซึ่งจะต้องรับผิดต่อเมื่อจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ ย่อมได้รับประโยชน์จากสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 17,500 บาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ได้ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ ๒ ไปในทางการที่จ้างโดยประมาทชนทรัพย์สินของโจทก์เสียหายรวมเป็นเงิน ๕๔,๐๐๐ บาท ต่อมาจำเลยที่ ๒ ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายเพียง ๒๐,๐๐๐ บาท แต่จำเลยที่ ๒ กลับไม่ยอมใช้ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ ๓ เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ ๒ จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน ๕๔,๐๐๐ บาท
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การว่า ความเสียหายมิได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายจำเลยจำเลยจึงไม่ต้องรับผิด โจทก์และจำเลยที่ ๒ ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดได้อีก
จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์และจำเลยที่ ๒ ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยโจทก์เรียกร้องเอาค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๒ เป็นเงิน ๑๗,๕๐๐บาท ทำให้หนี้ในมูลละเมิดระงับสิ้นไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ให้รับผิดอีก พิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน ๑๗,๕๐๐ บาท ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ ๑ และที่ ๓
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในมูลละเมิดจากจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ ได้ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ร่วมกันรับผิดจำนวน ๕๔,๐๐๐บาท จำเลยที่ ๒ ร่วมรับผิดจำนวน ๑๗,๕๐๐ บาท
จำเลยที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประเด็นที่ว่า การที่โจทก์และจำเลยที่ ๒ ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน จะทำให้จำเลยที่ ๓ หลุดพ้นความรับผิดหรือไม่นั้น เห็นว่า สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๒ นั้น คู่กรณีมีเจตนามุ่งหมายที่จะระงับข้อพิพาทที่จำเลยที่ ๒ มีหน้าที่ที่จะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายร่วมกับจำเลยที่ ๑ ในฐานะที่จำเลยที่ ๒ เป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๑ ซึ่งได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ในทางการที่จ้าง จึงมีผลให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ ๒ ในมูลละเมิดระงับสิ้นไปโดยโจทก์ได้สิทธิเรียกร้องใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ทั้งสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นจำเลยที่ ๓ มิได้ร่วมลงชื่อตกลงด้วย จำเลยที่ ๓ ในฐานะผู้รับประกันภัยจึงยังต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยต่อโจทก์จนกว่าโจทก์จะได้รับการชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๒ ผู้เอาประกันภัยครบถ้วนตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
โจทก์และจำเลยที่ ๒ ตกลงประนีประนอมยอมความกัน โดยโจทก์ยอมรับค่าเสียหายเพียง ๑๗,๕๐๐ บาท ดังนั้น จำเลยที่ ๓ ผู้รับประกันภัยค้ำจุน ซึ่งจะต้องรับผิดก็ต่อเมื่อจำเลยที่ ๒ ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบ ย่อมได้รับประโยชน์จากสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวด้วย จำเลยที่ ๓ จึงต้องร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์จำนวน ๑๗,๕๐๐ บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๓ ร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน ๑๗,๕๐๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์