คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 975/2552

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 เป็นนายหน้าให้แก่ผู้ที่มายื่นประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ศาลชั้นต้น ย่อมจะทราบกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ดีกว่าผู้กล่าวหาซึ่งเป็นเพียงชาวบ้าน หากผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 มีความสุจริตใจที่จะช่วยเหลือผู้กล่าวหาเพียงขอค่าตอบแทนจากการช่วยดำเนินการดังกล่าว ก็ไม่ควรที่จะเรียกเอาค่าตอบแทนเป็นจำนวนที่สูงจนเกินสมควร ทั้งควรที่จะพาผู้กล่าวหาไปติดต่อขอใช้บริการประกันอิสรภาพจากบริษัท ว. ซึ่งก็อยู่ที่ศาลชั้นต้นด้วยตนเอง แต่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 หาได้กระทำไม่ อันมีลักษณะเป็นการปกป้องด้วยเกรงว่าผู้กล่าวหาจะทราบค่าใช้จ่ายที่เป็นจริง ทำให้ผู้กล่าวหาที่ไม่ทราบความจริงต้องยอมจ่ายเงินไปในจำนวนสูงเกินสมควร โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 ได้รับเงินส่วนต่างหลังจากหักชำระค่าตอบแทนจากการชำระค่าเบี้ยประกันภัยถึง 16,232 บาท ซึ่งมิใช่เป็นเพียงการให้ค่าตอบแทนจากการให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกอย่างธรรมดาทั่วไป การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 ถือได้ว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ควรได้จากผู้มีอรรถคดีและได้กระทำในศาลชั้นต้นจึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล อันเป็นการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1), 33 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2550 พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลห้วยขวาง นำตัวนายอานนท์ บุตรของผู้กล่าวหาซึ่งถูกจับกุมดำเนินคดีข้อหาลักทรัพย์ไปขอฝากขังต่อศาลชั้นต้น ผู้กล่าวหาขอประกันตัวโดยมีผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามเสนอตัวช่วยเหลือโดยใช้กรมธรรม์ประกันอิสรภาพของบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด วงเงิน 100,000 บาท เป็นหลักประกันต่อศาล หลังจากนายอานนท์ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ผู้กล่าวหาได้จ่ายเงินให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามไป 23,000 บาท ต่อมาผู้กล่าวหาทราบหลักเกณฑ์ในการซื้อกรมธรรม์ประกันอิสรภาพวงเงิน 100,000 บาทว่า เสียค่าเบี้ยประกันเพียง 6,300 บาท จึงเข้าร้องเรียนต่อศาลชั้นต้น
ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นการกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1), 33 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ให้จำคุกคนละ 3 เดือน ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ให้ยก
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในข้อแรกตามฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 ว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 กระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 ได้รับเงิน 23,000 บาท จากผู้กล่าวหาจริง แต่มิใช่เกิดจากการหลอกลวง หากเป็นการตกลงยินยอมในการช่วยเหลือและให้ความสะดวกแก่ผู้กล่าวหา ในข้อนี้ได้ความจากคำเบิกความของผู้กล่าวหาว่า ผู้กล่าวหาได้พูดคุยกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการประกันตัวนายอานนท์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 บอกว่าเป็นเงิน 30,000 บาท ผู้กล่าวหาต่อรองเหลือ 20,000 บาท ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ลดให้เหลือ 27,000 บาท ผู้กล่าวหาต่อรองลงอีกจนเหลือ 23,000 บาท เห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 เป็นนายหน้าให้แก่ผู้ที่มายื่นประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ศาลชั้นต้น ย่อมจะทราบกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ดีกว่าผู้กล่าวหาซึ่งเป็นเพียงชาวบ้าน หากผู้ถูกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 มีความสุจริตใจที่จะช่วยเหลือผู้กล่าวหาเพียงเพื่อขอค่าตอบแทนจากการช่วยดำเนินการดังกล่าว ก็ไม่ควรที่จะเรียกเอาค่าตอบแทนเป็นจำนวนที่สูงจนเกินสมควร ทั้งควรที่จะพาผู้กล่าวหาไปติดต่อขอใช้บริการประกันอิสรภาพจากบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด ซึ่งก็อยู่ที่ศาลชั้นต้นด้วยตนเอง แต่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 หาได้กระทำไม่ อันมีลักษณะเป็นการปกป้องด้วยเกรงว่าผู้กล่าวหาจะทราบค่าใช้จ่ายที่เป็นจริงนั่นเอง ทำให้ผู้กล่าวหาที่ไม่ทราบความจริงต้องยอมจ่ายเงินไปในจำนวนที่สูงเกินสมควร โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 ได้รับเงินส่วนต่างหลังหักชำระค่าเบี้ยประกันภัยจากผู้กล่าวหาถึง 16,232 บาท จึงมิใช่เป็นเพียงการให้ค่าตอบแทนจากการที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 ให้ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกอย่างธรรมดาทั่วไป การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 ถือได้ว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ควรได้จากผู้ที่มีอรรถคดีและได้กระทำในศาลชั้นต้นจึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล อันเป็นการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1), 33 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ฎีกาข้อนี้ของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 ในประการสุดท้ายว่า มีเหตุสมควรลงโทษในสถานเบาและรอการลงโทษให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้จากผู้มาติดต่อราชการของศาล อันเป็นการไม่เคารพในสถาบันศาลและมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของศาลจึงเป็นเรื่องร้ายแรง ที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 อ้างเหตุผลส่วนตัวว่ามีภาระในการเลี้ยงดูบุตร ไม่เพียงพอแก่การรอการลงโทษให้ แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาจำคุกผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 คนละ 3 เดือน นั้น หนักเกินไป เห็นสมควรแก้ไขให้เหมาะสม ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนจึงให้ลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 ฎีกาข้อนี้ของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 คนละ 1 เดือนโดยให้ลงโทษกักขังแทนโทษจำคุกมีกำหนดคนละ 1 เดือน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share