คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4977/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นวัดจึงต้องอยู่ในความปกครองของคณะสงฆ์ไทยตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และกฎมหาเถรสมาคมการแต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสของโจทก์ต้องปฏิบัติตามบทกฎหมายและกฎดังกล่าว ดังนั้น การที่อธิบดีสงฆ์พม่าแต่งตั้งพระ ณ.เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะมิใช่เป็นการแต่งตั้งตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และกฎมหาเถรสมาคม พระ ณ. จึงไม่มีอำนาจฟ้องในฐานะผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสของโจทก์.

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันโดยเรียกจำเลยตามลำดับสำนวนเป็นจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องเป็นใจความว่า โจทก์เป็นเจ้าของตึกแถวเลขที่ 182/2, 182/4 และ 182/15-16 จำเลยทั้งสามเป็นผู้เช่าช่วงตึกแถวดังกล่าวและต้องชำระค่าเช่าแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสามผิดนัดไม่ชำระ โจทก์ติดตามทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสามเพิกเฉยโจทก์จึงบอกเลิกการเช่า ขอให้จำเลยทั้งสามขนย้ายทรัยพ์สินและบริการออกไป และชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละคนละ 3,000 บาทนับตั้งแต่วันฟ้อง
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การเป็นใจความว่า พระณรงค์ นันทิโยไม่ใช่เจ้าอาวาสหรือผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสของโจทก์ ที่โจทก์อ้างว่าอธิบดีสงฆ์พม่าเป็นผู้แต่งตั้งพระณรงค์เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสของโจทก์นั้น การแต่งตั้งไม่ชอบเพราะตำแหน่งอธิบดีสงฆ์พม่าประจำประเทศไทยไม่มีอำนาจที่ทางราชการรับรองให้แต่งตั้งเจ้าอาวาสหรือผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส การแต่งตั้งเจ้าอาวาสหรือผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสจึงต้องเป็นไปตามกฎหมายมหาเถรสมาคมฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2506) ว่าด้วย การแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการดังนั้น การแต่งตั้งเจ้าอาวาสหรือผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสของโจทก์จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าคณะตำบลช้างม่อย กับเจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงใหม่ ซึ่งได้แต่งตั้งพระภิกษุทั่งโถ่ ฐานธม โม เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดโจทก์ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2526 ตามบทบัญญัติในมาตรา 18 และมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505และกฎมหาเครสมาคม ฉบับที่ 10 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2521 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และจำเลยทั้งสามได้ทำสัญญาเช่าตึกแถวกับผู้แทนโจทก์คือพระภิกษุทั่งโถ่โดยชอบแล้ว เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2526 และได้จดทะเบียนโดยชอบแล้วด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสามสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสามสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะหืแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เป็นนิติบุคคลประเภทวัดวาอารามตั้งอยู่ที่ตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ขณะฟ้องตำแหน่งเจ้าอาวาสว่างอยู่ เพราะเจ้าอาวาสองค์สุดท้ายมรณภาพ คดีนี้โจทก์ฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวจึงต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบด้วยมาตรา 247ปัญหาวินิจฉัยมีว่า การที่อธิบดีสงฆ์พม่าแต่งตั้งพระณรงค์ นันทิโยเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า การดำเนินการให้เช่าตึกแถวของโจทก์โจทก์ต้องส่งร่างสัญญาเช่าต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อเสนอกรมการศาสนาให้ความเห็นชอบ คณะสงฆ์ไทยและกรรมการศาสนาไม่เคยยกวัดโจทก์ให้สถานทูตพม่า รายได้จากค่าเช่าของวัดเก็บไว้ที่วัดไม่ได้ส่งให้สถานทูตพม่า จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าโจทก์เป็นวัดที่อยู่ในความปกครองของคณะสงฆ์ไทยประกอบกับพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ มาตรา 46 บัญญัติว่า “การปกครองคณะสงฆ์อื่นนอกจากคณะสงฆ์ไทย ให้เป็นไปตามกฎกระทรวง” แต่ก็ยังไม่ปรากฏว่าได้ออกกฎกระทรวงใช้บังคับแก่คณะสงฆ์อื่นนอกจากคณะสงฆ์จีนนิกายและอนัมนิกายแต่อย่างใด วัดโจทก์จึงยังต้องอยู่ในความปกครองของคณะสงฆ์ไทยตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พ.ศ. 2505 และกฎหมายมหาเถรสมาคม การแต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสของโจทก์ ต้องปฏิบัติตามบทกฎหมายและกฎดังกล่าวดังนั้นการที่อธิบดีสงฆ์พม่าแต่งตั้งพระณรงค์ นันทิโย เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมิใช่เป็นการแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และกฎมหาเถรสมาคมพระณรงค์ นันทิโย จึงไม่มีอำนาจฟ้องในฐานะผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสของโจทก์…”
พิพากษายืน.

Share