แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์ต้องอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 30 เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ การประเมิน ย่อมเป็นอันยุติ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 (1) และมาตรา 8
แบบแจ้งการประเมินอากรและภาษีมูลค่าเพิ่ม มีข้อความระบุเกี่ยวกับใบขนสินค้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มที่อ้างถึง ชื่อยานพาหนะ วันนำเข้า และเหตุให้ค่าภาษีอากรขาด โดยมีรายละเอียดจำนวนภาษีอากรที่ต้องชำระ ภาษีอากรที่ชำระไว้แล้ว ภาษีอากรที่ต้องชำระเพิ่ม เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม จึงเห็นได้ว่าแบบแจ้งการประเมินอากรและภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวมีข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญว่า โจทก์สำแดงประเภทพิกัดผิดพลาดจนเป็นเหตุที่ทำให้โจทก์เสียภาษีไม่ถูกต้องหรือชำระภาษีอากรขาดไป มีการอ้างอิงข้อกฎหมายที่ใช้ในการประเมินตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 และ พ.ร.บ.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ทั้งยังได้แจ้งพิกัดอันเป็นข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจตามที่เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าถูกต้องให้โจทก์ทราบแล้วด้วย โจทก์เคยถูกจับกุมเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าแผ่นฟิล์มและขอระงับคดีโดยยินยอมชำระค่าปรับและค่าภาษีที่ขาดมาก่อน ประกอบกับคำอุทธรณ์ของโจทก์ได้โต้แย้งคัดค้านการประเมินโดยละเอียด แสดงให้เห็นว่าโจทก์ทราบและเข้าใจเหตุผลในการประเมิน สำหรับคำวินิจฉัยอุทธรณ์มีข้อความตามเหตุผลที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้ ประกอบกับโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้โดยโต้แย้งข้อเท็จจริงข้อกฎหมายไว้อย่างละเอียดตรงตามประเด็นและเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ถือได้ว่าแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวได้ระบุเหตุผลอันประกอบด้วยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมาย ข้อพิจารณาในการใช้ดุลพินิจในการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โดยครบถ้วนตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 แล้ว
โจทก์นำเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าเลขที่ 0106 – 0028 – 4188 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2538 สินค้าตามใบขนสินค้าเลขที่ 0106 – 0038 – 5029 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2538 และสินค้าตามใบขนสินค้าเลขที่ 0106 – 0058 – 3313 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2538 ซึ่งนับถึงวันที่โจทก์ได้รับแบบแจ้งการประเมินในวันที่ 1 มิถุนายน 2548 เกิน 10 ปี สิทธิเรียกร้องของจำเลยในส่วนอากรขาเข้าตามใบขนสินค้าทั้งสามฉบับจึงขาดอายุความตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคสาม
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินการนำเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าในส่วนนี้รวม 117 ฉบับ ซึ่งแต่ละข้อหาตามใบขนสินค้าแต่ละฉบับไม่เกี่ยวข้องกัน สามารถแยกออกจากกันได้ โจทก์จะฟ้องแต่ละข้อหาแยกเป็นรายคดีก็ได้แต่เพื่อความสะดวกโจทก์ได้ฟ้องรวมกันมา แต่ก็ต้องเสียค่าขึ้นศาลในส่วนนี้เป็นรายข้อหา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินอากรและภาษีมูลค่าเพิ่มฉบับเลขที่ กค 0512(2)/3 – 3 – 02531 ลงวันที่ 1 และ 2 มิถุนายน 2548 รวม 116 ฉบับ และเลขที่ กค 0505(2)/1 – 3 – 00442 ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2547 เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ กค 5/2549/ป.1(3.1) ลงวันที่ 11 เมษายน 2549 ให้ลดหรืองดเบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มทั้งหมด และให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีที่โจทก์ชำระไปตามการประเมินจำนวน 1,377,083.55 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.625 ต่อเดือนนับตั้งแต่วันที่โจทก์ชำระ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินเฉพาะในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มตามหนังสือแจ้งการประเมินเลขที่ กค 0512(2)/3 – 3 – 02531 ถึงเลขที่ กค 0512(2)/3 – 3 – 02646 ลงวันที่ 1 และ 2 มิถุนายน 2548 (116 ฉบับ) และเลขที่ กค 0505(2)/1 – 3 – 00442 ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2547 ในส่วนค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยโจทก์และจำเลยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า โจทก์ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายตัวเก็บประจุไฟฟ้าคาปาซิเตอร์ (CAPACITOR) เดิมโจทก์นำเข้าคาปาซิเตอร์สำเร็จรูปเข้ามาจำหน่ายในประเทศ โดยเสียภาษีอากรอัตราร้อยละ 35 ต่อมาได้มีประกาศกระทรวงการคลังที่ ศก.4/2537 เรื่อง ยกเลิกการลดและการยกเว้นอากร การลดอัตราอากรศุลกากรและกำหนดให้ของได้รับการยกเว้นอากร แผ่นที่ 276 ถึง 279 กำหนดให้ลดอัตราอากรขาเข้าของคาปาร์ซิเตอร์และส่วนประกอบเหลืออัตราร้อยละ 1 โจทก์มีหนังสือสอบถามพร้อมส่งตัวอย่างสินค้าที่โจทก์จะนำเข้าไปให้กองพิธีการและประเมินอากรของจำเลย ต่อมากองพิธีการและประเมินอากรของจำเลยแจ้งว่าให้ชำระภาษีอากรในพิกัดประเภทที่ 8532.90 อัตราร้อยละ 1 ตามประกาศกระทรวงการคลังที่ ศก.4/2537 เมื่อระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2538 ถึงเดือนสิงหาคม 2544 โจทก์สั่งซื้อและนำเข้าสินค้าเพื่อการผลิต มีชื่อทางการค้าว่า พี พี ซิงค์ เมอร์ไทลไลซ์ โพลีโพรพิลีน ฟิล์ม (P.P. ZINC METTALLIZED POLYPROPYLENE FILM) เคลือบด้วยสารโลหะ และ พี พี โพลีโพรพิลีน ฟิล์ม (P.P. POLYPROPYLENE FILM) ไม่เคลือบด้วยสารโลหะ โดยโจทก์สำแดงพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 8532.90 อัตราอากรร้อยละ 1 และประเภทที่ 8546.90 อัตราอากรร้อยละ 10 รวมจำนวน 118 ใบขนสินค้า ในช่วงแรกที่โจทก์นำเข้าสินค้าดังกล่าวในระหว่างปี 2538 ถึงเดือนพฤษภาคม 2541 ตามใบขนสินค้าจำนวน 62 ฉบับ จำเลยไม่ได้โต้แย้งเรื่องพิกัดอัตราศุลกากรดังกล่าว จนกระทั่งวันที่ 16 มิถุนายน 2541 เจ้าพนักงานฝ่ายสืบสวนและปราบปรามของจำเลยยึดเอกสารการนำเข้าสินค้าดังกล่าวของโจทก์ไป และวันที่ 25 มิถุนายน 2541 ได้ยึดอายัดตัวอย่างสินค้าของโจทก์ที่นำเข้าเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2541 และเก็บอยู่ที่ ร.ส.พ.เทอร์มินอล 1 ไป โจทก์ขอวางเงินประกันและรับของไปก่อน พร้อมทั้งสงวนสิทธิในการโต้แย้งพิกัดต่อจำเลย วันที่ 9 กรกฎาคม 2544 จำเลยแจ้งการประเมินให้โจทก์ชำระอากรขาเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่มและเงินเพิ่ม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,581,605.58 บาท ตามแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้า/ขาออกภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มตาม โจทก์นำเงินไปชำระแล้ว วันที่ 7 สิงหาคม 2544 โจทก์ยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หลังจากนั้นวันที่ 25 ธันวาคม 2541 โจทก์นำเข้าสินค้าดังกล่าวอีกโดยสำแดงพิกัดประเภทที่ 8532.90 อัตราอากรร้อยละ 1 พร้อมระบุว่าเป็นสินค้าที่นำเข้ามาผลิตเพื่อส่งออกภายใน 1 ปี นับแต่วันนำเข้าและแสดงความจำนงขอคืนเงินอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา 19 ทวิ แต่จำเลยแจ้งให้โจทก์ไปวางประกันค่าภาษีอากรและค่าปรับ วันที่ 16 ธันวาคม 2547 เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยแจ้งการประเมินว่าสินค้าดังกล่าวอยู่ในพิกัดประเภท 3921.90 ต้องเสียอากรเพิ่ม 1,377,083.55 บาท วันที่ 20 มกราคม 2548 โจทก์ชำระเงินค่าภาษีอากรดังกล่าวตามใบเสร็จรับเงิน วันที่ 21 มกราคม 2548 โจทก์ยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมิน ต่อมาวันที่ 1 และ 2 มิถุนายน 2548 เจ้าพนักงานของจำเลยแจ้งการประเมินว่า โจทก์สำแดงพิกัดเป็นเท็จในใบขนสินค้าตั้งแต่ปี 2538 ถึง 2544 จึงให้โจทก์ชำระภาษีอากรตามใบขนสินค้า 116 ฉบับเพิ่มขึ้นดังนี้ ปี 2538 ใบขนสินค้า 7 ฉบับ เป็นเงินค่าอากร 7,959,338 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 557,153 บาท เบี้ยปรับ 557,153 บาท เงินเพิ่ม 557,153 บาท รวมเป็นเงิน 9,630,797 บาท ปี 2539 ใบขนสินค้า 22 ฉบับ เป็นเงินค่าอากร 26,660,399 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 1,866,230 บาท เบี้ยปรับ 1,866,230 บาท เงินเพิ่ม 1,866,230 บาท รวมเป็นเงิน 32,259,089 บาท ปี 2540 ใบขนสินค้า 24 ฉบับ เป็นเงินค่าอากร 28,297,001 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 2,329,666 บาท เบี้ยปรับ 2,329,666 บาท เงินเพิ่ม 2,329,666 บาท รวมเป็นเงิน 35,285,999 บาท ปี 2541 ใบขนสินค้า 9 ฉบับ เป็นเงินค่าอากร 18,926,261 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 1,892,626 บาท เบี้ยปรับ 1,892,626 บาท เงินเพิ่ม 1,892,626 บาท รวมเป็นเงิน 24,604,139 บาท ปี 2542 ใบขนสินค้า 12 ฉบับ เป็นเงินค่าอากร 12,113,974 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 847,986 บาท เบี้ยปรับ 847,986 บาท เงินเพิ่ม 847,986 บาท รวมเป็นเงิน 14,657,932 บาท ปี 2543 ใบขนสินค้า 25 ฉบับ เป็นเงินค่าอากร 12,113,974 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 847,986 บาท เบี้ยปรับ 847,986 บาท เงินเพิ่ม 847,986 บาท รวมเป็นเงิน 14,657,932 บาท ปี 2544 ใบขนสินค้า 17 ฉบับ เป็นเงินค่าอากร 16,525,603 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 1,156,770 บาท เบี้ยปรับ 1,156,770 บาท เงินเพิ่ม 881,267.25 บาท รวมเป็นเงิน 19,720,410.25 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 173,009,915.89 บาท วันที่ 21 มิถุนายน 2548 โจทก์อุทธรณ์การประเมิน ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มโจทก์ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ วันที่ 11เมษายน 2549 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยว่า แผ่นฟิล์มทำด้วยพลาสติกใสชนิด POLYPROPYLENE จัดเข้าพิกัดที่ 3920.20 และแผ่นฟิล์มทำด้วยพลาสติกชนิด POLYPROPYLENE เคลือบด้วยสารโลหะ จัดเข้าพิกัดประเภทที่ 3921.90 โดยชำระอากรในอัตราขณะที่นำเข้า โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงนำมาฟ้องเป็นคดีนี้
ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยประการแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ เห็นว่า ในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อโจทก์ได้รับแจ้งการประเมินแล้ว หากโจทก์ยังไม่เห็นด้วยกับการประเมินดังกล่าวไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินตามที่กำหนดในมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อคดีนี้โจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมิน การประเมินในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นย่อมเป็นอันยุติ โจทก์จะนำคดีมาฟ้องขอให้เพิกถอนในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 (1) และมาตรา 8 ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า เงื่อนไขการอุทธรณ์การประเมินตามมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่รวมถึงกรณีที่โจทก์อ้างว่าเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยทำการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเกินกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 88/6 แห่งประมวลรัษฎากรนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า ที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลแยกเป็น 117 ข้อหา ตามใบขนสินค้าขาเข้าที่พิพาทแต่ละฉบับนั้นถูกต้องหรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ประกอบตารางท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เรื่องค่าขึ้นศาลมิได้บัญญัติว่าคดีหนึ่งจะต้องเสียค่าขึ้นศาลไม่เกิน 200,000 บาท คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินการนำเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าในส่วนนี้รวม 117 ฉบับ ซึ่งแต่ละข้อหาตามใบขนสินค้าแต่ละฉบับสามารถคิดคำนวณจำนวนเงินที่ขอให้เพิกถอนการประเมินและให้จำเลยคืนเงินแยกต่างหากออกจากกันได้ คำฟ้องของโจทก์ในส่วนการประเมินตามใบขนสินค้า 117 ฉบับ จึงเป็นการเสนอข้อหาต่อศาลรวม 117 ข้อหาที่ไม่เกี่ยวข้องกันและสามารถแยกออกจากกันได้ โจทก์จะฟ้องแต่ละข้อหาแยกเป็นรายคดีก็ได้ แต่เพื่อความสะดวกโจทก์ได้ฟ้องรวมกันมา แต่ก็ต้องเสียค่าขึ้นศาลในส่วนนี้เป็นรายข้อหาทั้ง 117 ข้อหา ส่วนคำสั่งศาลภาษีอากรกลางที่ 23/2542 ได้วางหลักเกณฑ์การคำนวณค่าขึ้นศาลคดีภาษีอากรสอดคล้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเรื่องการคำนวณค่าขึ้นศาลดังกล่าวมาแล้วข้างต้นโดยมิได้ขัดกันดังที่โจทก์เข้าใจแต่อย่างใด ที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลแยกเป็น 117 ข้อหาจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการประเมินอากรตามใบขนสินค้าในปี 2538 เลขที่ 0106 – 0028 – 4188 เลขที่ 0106 – 0038 – 5029 และเลขที่ 0106 – 005 – 00583313 แต่ไม่เพิกถอนประเมินในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มตามหนังสือแจ้งการประเมินเลขที่ กค 0512(2)/3-3-02531 ถึงเลขที่ กค 0512(2)/3-3-02646 ลงวันที่ 1 และ 2 มิถุนายน 2548 (116 ฉบับ) และเลขที่ กค 0505(2)/1 – 3 – 00442 ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2547 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ