แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยซึ่งเป็นสามีผู้ร้องกู้เงินมาลงทุนเอากำไรมาใช้จ่ายเลี้ยงครอบครัว เป็นหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินบริคณห์และการอุปการะเลี้ยงดู ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1482 เดิม ให้ถือว่าเป็นหนี้ร่วมกันระหว่างสามีภรรยา ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอกันส่วนในเงินขายทอดตลาดที่ดินซึ่งเป็นสินสมรส
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิขอให้กันส่วนเงินขายทอดตลาดที่ดินทั้ง 4 แปลง ตามคำร้องหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าตามคำร้องของผู้ร้องอ้างว่าที่ดินทั้ง 4 แปลง เป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องกับจำเลยร่วมกันทำมาหาได้ภายหลังจดทะเบียนสมรสกันแล้วทั้งสิ้น ดังนั้นทรัพย์ดังกล่าวจึงเป็นสินสมรส ปัญหาต่อไปว่า หนี้ที่จำเลยซึ่งเป็นสามีผู้ร้องมีต่อโจทก์ เห็นหนี้ร่วมอันผู้ร้อง จะต้องรับผิดด้วยหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยผู้เป็นสามีของผู้ร้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นสินสมรสทั้ง 4 แปลง โดยความยินยอมของผู้ร้องเพื่อเป็นการสะดวกในการทำนิติกรรม จำเลยได้นำที่ดินไปจำนองโจทก์ 2 แปลง เงินที่จำเลยกู้โจทก์มานี้จำเลยใช้ในกิจการรับเหมาก่อสร้างซึ่งเป็นอาชีพปกติของจำเลย นำรายได้มาใช้จ่ายในครอบครัวเดือนละ 500 บาท ผู้ร้องซึ่งเป็นภรรยาจำเลยทำการเลี้ยงสัตว์และค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ มีรายได้ไม่พอจ่ายในครอบครัวเพราะต้องใช้จ่ายเดือนละ 1,000 บาทเศษ ก่อนกู้เงินโจทก์ การก่อสร้างมีกำไร นอกจากจำเลยนำรายได้มาให้ภรรยาใช้จ่ายในครอบครัวแล้ว ยังนำมาหมุนเวียนในกิจการก่อสร้าง มีการซื้อเครื่องจักรย่อยหินและรถยนต์ ต่อมาการก่อสร้างขาดทุน จำเลยจึงกู้เงินโจทก์มาใช้จ่ายในกิจการก่อสร้างของตน ดังนี้เมื่อปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้มีอำนาจจัดการสินบริคณห์ตามลำพังตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ถือได้ว่าหนี้ที่จำเลยก่อขึ้นเป็นหนี้ที่เกี่ยวข้องกับ สินบริคณห์และการอุปการะเลี้ยงดู ซึ่งมาตรา 1482 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิม ให้ถือว่าเป็นหนี้ร่วมกันระหว่างสามีภรรยา ดังนั้น ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอให้กันส่วนในเงินขายทอดตลาดที่ดินทั้ง 4 แปลงได้ตามคำร้อง”
พิพากษายืน