คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3203/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 12 แถลงขอถือเอาคำให้การของจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 11 ซึ่งได้ยื่นเป็นหนังสือและศาลแรงงานกลางได้รับคำให้การนั้นแล้วเป็นคำให้การของจำเลยที่ 12 ด้วย และศาลแรงงานกลางได้บันทึกคำแถลงนั้นไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาแล้วกำหนดหน้าที่นำสืบไปตามประเด็นแห่งคดี จึงเท่ากับจำเลยที่ 12 ได้ให้การต่อสู้คดีเช่นเดียวกับคำให้การของจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 11และศาลแรงงานกลางได้รับคำให้การนั้นแล้วจำเลยที่ 12จึงมีสิทธินำพยานเข้าสืบตามข้อต่อสู้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยที่ 12 ต่อมาเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2523 จำเลยที่ 12 ได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสามอ้างว่าประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอยู่ในภาวะขาดทุนซึ่งไม่เป็นความจริง หากแต่เลิกจ้างเพราะโจทก์ทั้งสามเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ และโจทก์ทั้งสามได้ร่วมกันยื่นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้างต่อจำเลยที่ 12 ซึ่งมีการตกลงกันได้และได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2523 โดยมีผลใช้บังคับ 1 ปี การเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม โจทก์ทั้งสามได้ร้องเรียนต่อจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 11 ซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 12 เลิกจ้างโจทก์ทั้งสามเพราะความจำเป็นมิได้กลั่นแกล้งลูกจ้าง มิใช่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมจึงมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ทั้งสาม โจทก์เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบ จึงขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และให้จำเลยที่ 12 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามคนละ 50,000 บาท

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ให้การว่า จำเลยได้กระทำตามอำนาจหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 12 เลิกจ้างโจทก์ทั้งสามและพนักงานอื่นเพราะประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและอยู่ในภาวะขาดทุนและดูแลกิจการไม่ทั่วถึงซึ่งจำเลยที่ 12 ก็ได้ยุบหน่วยงานอื่นอีกหลายหน่วย และได้จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายให้โจทก์ทั้งสามครบถ้วนแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 12 ไม่ยื่นคำให้การ แต่ขอถือเอาคำให้การของจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 11 เป็นคำให้การของจำเลยที่ 12 ด้วย

ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม โจทก์ขอถอนฟ้อง ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกเสียจากสารบบความ

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 12 มีเหตุจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงการบริหารงานยุบแผนกใดแผนกหนึ่งตามที่เห็นสมควร การเลิกจ้างก็ไม่ปรากฏเหตุเจาะจงจะเลิกจ้างใคร หรือมีเจตนาแอบแฝงที่จะบ่อนทำลายเสถียรภาพของสหภาพแรงงาน ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏเหตุแห่งการกระทำอันไม่เป็นธรรม ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 11 พิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายในประเด็นที่โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 12 ไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบ เพราะมิได้ยื่นคำให้การไว้ การที่จำเลยที่ 12 ขอให้ถือเอาคำให้การของจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 11 เป็นคำให้การของจำเลยที่ 12 ด้วย จะถือว่าจำเลยที่ 12 ให้การแล้วไม่ได้ว่า พิเคราะห์แล้วพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 37 วรรคสองบัญญัติว่า “จำเลยจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือก่อนวันเวลาที่ศาลแรงงานนัดให้มาศาลก็ได้” และมาตรา 39 บัญญัติว่า “ในกรณีมีประเด็นที่ยังไม่อาจตกลงกันหรือไม่อาจประนีประนอมยอมความกัน ให้ศาลแรงงานจดประเด็นข้อพิพาทและบันทึกคำแถลงของโจทก์กับคำให้การของจำเลยอ่านให้คู่ความฟัง และให้ลงลายมือชื่อไว้” เห็นได้ว่าวิธีพิจารณาคดีแรงงานในศาลแรงงานแตกต่างกับการพิจารณาคดีแพ่งธรรมดา กล่าวคือจำเลยจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือก่อนวันที่ศาลนัดให้คู่ความมาศาล หรือจะให้การด้วยวาจาในวันนัดก็ได้ คดีนี้จำเลยที่ 12 แถลงขอถือเอาคำให้การจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 11 ซึ่งได้ยื่นเป็นหนังสือไว้ก่อนแล้วเป็นคำให้การของจำเลยที่ 12 ด้วย ศาลแรงงานกลางได้บันทึกคำแถลงนั้นไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา แล้วกำหนดหน้าที่นำสืบไปตามประเด็นแห่งคดีจึงเท่ากับจำเลยที่ 12 ได้ให้การต่อสู้คดีเช่นเดียวกับคำให้การจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 11 และศาลแรงงานกลางได้รับคำให้การนั้นแล้ว จำเลยจึงมีสิทธินำพยานเข้าสืบตามข้อต่อสู้ได้

พิพากษายืน

Share