คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1726/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องขัดทรัพย์กับจำเลยผู้เป็นสามีจดทะเบียนหย่ากัน แม้ข้อตกลงในการแบ่งทรัพย์สินระหว่างกันจะไม่ปรากฏอยู่ในทะเบียนการหย่าแต่ในหนังสือแสดงความประสงค์สมัครใจหย่ากันอันเป็นแบบพิมพ์ของทางราชการสำหรับให้คู่กรณีกรอกข้อความนั้นระบุไว้ว่า ‘ในเรื่องทรัพย์สินบริคณห์ต่าง ๆ ได้จัดการแบ่งปันกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว’และได้ความว่าผู้ร้องเป็นฝ่ายได้ที่ดินพิพาท ดังนี้ ย่อมถือว่าได้มีการแบ่งปันทรัพย์สินกันเรียบร้อยแล้วนับแต่วันจดทะเบียนหย่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยไม่มีอำนาจนำยึดที่พิพาทได้อีก

ย่อยาว

เดิมโจทก์ฟ้องจำเลย แล้วทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยเฉพาะจำเลยที่ ๒ ยอมใช้เงินให้โจทก์ ๒๐๐,๐๐๐ บาทแล้วไม่ใช้ โจทก์จึงขอบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดที่ ๖๕๙๓ พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้าง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ ๒ ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่ถูกยึด ขอให้ปล่อยทรัพย์ โจทก์ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ถอนการยึด
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า
ผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ ชีวิตสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ ๒ ไม่ค่อยราบรื่นถึงกับจะหย่ากันมาครั้งหนึ่งแล้ว ต่อมาก็มีเรื่องอีก จึงได้ทำหนังสือหย่ากันตามเอกสาร ร.๒ และต่อมาได้จดทะเบียนการหย่าเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม๒๕๑๐ ตามเอกสาร ร.๓ การจดทะเบียนหย่านี้ไม่ใช่การแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กันเพื่อจะป้องกันมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้จากสินสมรส และปรากฏตามหนังสือแสดงความประสงค์สมัครใจหย่าขาดจากกันเอกสาร ร.๔ซึ่งเป็นแบบพิมพ์ของทางราชการที่ให้คู่กรณีกรอกข้อความ ระบุไว้ด้วยว่า”ในเรื่องทรัพย์สินบริคณห์ต่าง ๆ ได้จัดการแบ่งปันกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว”ฟังได้ว่าได้มีการแบ่งทรัพย์สินกันแล้ว โดยผู้ร้องได้ที่ดินรายพิพาทจำเลยที่ ๒ ได้รถยนต์
ฉะนั้น นับแต่จดทะเบียนการหย่าเป็นต้นไป ต้องถือว่าทรัพย์สินระหว่างจำเลยที่ ๒ กับผู้ร้องได้แยกจากกันเสียแล้ว แม้ข้อตกลงในการแบ่งทรัพย์สินจะไม่ปรากฏอยู่ในทะเบียนการหย่า แต่ก็มีข้อความในเอกสาร ร.๔ ซึ่งเป็นแบบพิมพ์ของทางราชการซึ่งย่อมแปลได้ว่าผู้ร้องและจำเลยที่ ๒ มีเจตนาที่จะให้การตกลงนี้เป็นผลของการหย่า ซึ่งได้มีการจดทะเบียนในวันที่ปรากฏในเอกสาร ร.๔ นั่นเอง ถือได้ว่าได้มีการแบ่งปันทรัพย์สินกันเรียบร้อยแล้วตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๙๐๒/๒๕๐๘ และเมื่อได้จดทะเบียนการหย่าและแบ่งทรัพย์สินกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว โจทก์ก็ไม่มีอำนาจจะนำยึดที่ดินโฉนดที่ ๖๕๙๓ พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างอันตกเป็นของผู้ร้องเสียแล้วตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๘๔๑/๒๕๐๙
พิพากษายืน

Share