คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 856/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน ส. ดังนั้นจำเลยจึงมีสิทธิยกข้อต่อสู้ทั้งหลายซึ่ง ส. มีต่อโจทก์ รวมทั้งเรื่องอายุความที่โจทก์อาจฟ้อง ส.เป็นคดีแพ่งขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 694 การที่โจทก์จะฟ้องให้ ส. ชดใช้เงินที่ยักยอกคืนโจทก์นั้นเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดซึ่งเกิดจากการกระทำความผิดฐานยักยอกของ ส. ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีอายุความที่จะต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายใน 10 ปีนับแต่วันกระทำความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(3)กำหนดอายุความทางอาญาจึงยาวกว่าอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก ที่กำหนดไว้เพียง 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงต้องเอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาใช้บังคับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสองโจทก์จึงฟ้องจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกัน ส. ได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ ส. กระทำความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ค้ำประกันการปฏิบัติหน้าที่ของนายสายัณต์ หมื่นกล้า ตัวแทนขายประกันภัยของโจทก์ นายสายัณต์ได้ยักยอกเงินค่าเบี้ยประกันของโจทก์ไปหลายครั้ง รวมเป็นเงิน166,045 บาท โจทก์จึงดำเนินคดีอาญากับนายสายัณต์ศาลพิพากษาจำคุกนายสายัณต์และให้คืนเงินแก่โจทก์จำนวน 160,186 บาทคดีถึงที่สุดโจทก์ทวงถามจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันให้รับผิดในวงเงินค้ำประกันจำนวน 100,000 บาท แต่จำเลยเพิกเฉย จึงฟ้องจำเลยให้รับผิดในต้นเงินและดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ฟ้องนายสายัณต์นับแต่โจทก์ทราบการทำละเมิดจนถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี เมื่อโจทก์มาฟ้องจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกัน คดีจึงขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันนายสายัณต์ ดังนั้น จำเลยจึงมีสิทธิยกข้อต่อสู้ทั้งหลายซึ่งนายสายัณต์มีต่อโจทก์รวมทั้งเรื่องอายุความที่โจทก์อาจฟ้องนายสายัณต์เป็นคดีแพ่งขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 694 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้นปัญหาต่อไปก็คือ คดีที่โจทก์อาจฟ้องนายสายัณต์ให้รับผิดต่อโจทก์ในทางแพ่งนั้นมีอายุความ 1 ปี ตามที่จำเลยต่อสู้หรือไม่ เห็นว่าการที่โจทก์จะฟ้องให้นายสายัณต์ชดใช้เงินที่ยักยอกคืนโจทก์นั้นเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิด อันเป็นความผิดมีโทษตามกฎหมายอาญา และศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาพิพากษาแล้วว่านายสายัณต์มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีจึงมีอายุความที่จะต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายใน10 ปี นับแต่วันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(3)กำหนดอายุความทางอาญาจึงยาวกว่าอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรกที่กำหนดไว้เพียง1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนจึงต้องเอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสอง บัญญัติไว้จะนำอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรกมาบังคับหาได้ไม่ ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องนายสายัณต์ได้ภายใน10 ปี นับแต่วันที่นายสายัณต์กระทำผิดเบียดบังยักยอกเงินของโจทก์ไปโดยทุจริต เมื่อนายสายัณต์ยักยอกเงินของโจทก์ไประหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน 2527 ถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2528 โจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันนายสายัณต์เป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2530 จึงเป็นการฟ้องคดีภายใน 10 ปีนับแต่วันที่นายสายัณต์กระทำความผิด ดังนั้น คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้จึงไม่ขาดอายุความดังที่จำเลยต่อสู้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share