แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยนำรถยนต์ตู้โดยสารซึ่งจดทะเบียนในประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน ซึ่งไม่ใช่รถของบริษัทหรือรถที่ใช้ในกิจการของบริษัทที่ตนเป็นลูกจ้างบรรทุกคนต่างด้าวจำนวน 13 คน จากอำเภอเมืองสมุทรสาครไปส่งยังจังหวัดระนองและรับกลับมาส่งยังอำเภอเมืองสมุทรสาคร แม้คนต่างด้าวจะเป็นลูกค้าของบริษัทแต่ก็ต้องเสียค่าโดยสาร ถือได้ว่าเป็นการขนส่งเพื่อสินจ้างโดยไม่จำกัดเส้นทาง แม้จำเลยจะได้รับเงินเดือนจากบริษัท แต่จำเลยก็เบิกความตอบคำถามค้านของโจทก์ว่า ในการเดินทางแต่ละเที่ยวจำเลยจะได้รับค่าอาหาร 200 บาท และในชั้นจับกุมจำเลยรับว่าจำเลยรับจ้างขนส่งแรงงานต่างด้าวเพื่อไปพิสูจน์สัญชาติยังจังหวัดระนอง และกำลังเดินทางกลับตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ. 1 ส่วนในชั้นสอบสวนจำเลยให้การว่า เป็นผู้ขับรถยนต์พาคนต่างด้าวเดินทางไปพิสูจน์สัญชาติที่จังหวัดระนอง จำนวน 13 คน ได้ค่าจ้างขับรถ ค่าน้ำมันและค่าก๊าซจำนวน 2,500 บาท ฟังได้ว่าจำเลยได้รับค่าจ้างในการขับรถดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้ประกอบการขนส่งโดยไม่ประจำทางแล้ว เมื่อจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบการขนส่งไม่ประจำทางจากนายทะเบียน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 23, 126
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง, 126 จำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนเห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นคนดี โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยขับรถยนต์ตู้ซึ่งใช้ในกิจการของบริษัทเอ.ไอ.เค.อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด ขนส่งคนต่างด้าวเพื่อพิสูจน์สัญชาติอันเป็นวัตถุประสงค์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัท ซึ่งเป็นการกระทำไปในทางการที่จ้างตามที่ได้รับมอบหมายจากนายจ้างโดยจำเลยมิได้เรียกเก็บค่าโดยสารเพื่อเป็นค่าตอบแทนส่วนตนโดยเฉพาะ แม้ว่าจำเลยได้รับเงินเดือนในตำแหน่งพนักงานขับรถจากบริษัทก็เป็นเพียงค่าตอบแทนจากการทำงานตามปกติ ซึ่งถือว่าเป็นค่าจ้าง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่ถือว่าเป็นการขนส่งเพื่อสินจ้างตามความหมายของพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานประกอบการขนส่งไม่ประจำทางโดยไม่ได้รับอนุญาต พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานประกอบการขนส่งไม่ประจำทางโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยเป็นพนักงานขับรถของบริษัทเอ.ไอ.เค. อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด โจทก์มิได้แก้อุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงดังกล่าว การที่โจทก์ยกข้อเท็จจริงดังกล่าวชั้นฎีกา ถือเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
การที่จำเลยนำรถยนต์ตู้โดยสารซึ่งจดทะเบียนในประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน ซึ่งไม่ใช่รถของบริษัทหรือรถที่ใช้ในกิจการของบริษัทที่ตนเป็นลูกจ้างบรรทุกคนต่างด้าวจำนวน 13 คน จากอำเภอเมืองสมุทรสาคร ไปส่งยังจังหวัดระนองและรับกลับมาส่งยังอำเภอเมืองสมุทรสาคร แม้คนต่างด้าวจะเป็นลูกค้าของบริษัท แต่ก็ต้องเสียค่าโดยสาร ถือได้ว่าเป็นการขนส่งเพื่อสินจ้างโดยไม่จำกัดเส้นทาง แม้จำเลยจะได้รับเงินเดือนจากบริษัท แต่จำเลยก็เบิกความตอบคำถามค้านของโจทก์ว่า ในการเดินทางแต่ละเที่ยว จำเลยจะได้รับค่าอาหาร 200 บาท และในชั้นจับกุม จำเลยรับว่าจำเลยรับจ้างขนส่งแรงงานต่างด้าวเพื่อไปพิสูจน์สัญชาติยังจังหวัดระนอง และกำลังเดินทางกลับตามบันทึกการจับกุม ส่วนในชั้นสอบสวนจำเลยให้การว่า เป็นผู้ขับรถยนต์พาคนต่างด้าวเดินทางไปพิสูจน์สัญชาติที่จังหวัดระนอง จำนวน 13 คน ได้ค่าจ้างขับรถ ค่าน้ำมันและค่าก๊าซ จำนวน 2,500 บาท ฟังได้ว่าจำเลยได้รับค่าจ้างในการขับรถดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้ประกอบการขนส่งโดยไม่ประจำทางแล้ว เมื่อจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบการขนส่งไม่ประจำทางจากนายทะเบียน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น