คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1720/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องบรรยายว่า จำเลยเบิกความเป็นพยานในคดีอาญาที่พนักงานอัยการโจทก์ ฟ้องขอให้ลงโทษจ่าสิบตำรวจ ส. จำเลย ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองและพาอาวุธปืนติดตัวไปโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยเบิกความในชั้นศาลว่า ไม่เห็นเหตุการณ์ขณะที่มีการยิงกัน ซึ่งคำเบิกความของจำเลยดังกล่าวเป็นความเท็จในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาล และความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี แม้โจทก์มิได้บรรยายรายละเอียดว่า ข้อความอันเป็นเท็จที่จำเลยเบิกความเป็นข้อสำคัญในคดีก่อนอย่างไรก็ตาม แต่โจทก์ก็ได้บรรยายถึงการเบิกความอย่างไรเป็นความเท็จและความจริงเป็นอย่างไร ข้อที่ว่าจ่าสิบตำรวจ ส. เป็นคนร้ายฆ่าผู้ตายโดยใช้อาวุธปืนยิงหรือไม่นั้น เป็นข้อสำคัญในคดีดังกล่าว เมื่อความจริงจำเลยเห็นจ่าสิบตำรวจ ส. ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย แล้วจำเลยมาเบิกความว่า ไม่ได้หันไปดูว่าใครเป็นคนยิงและถูกยิงไม่เห็นเหตุการณ์ขณะที่มีการยิงกัน คำเบิกความของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้อง ย่อมเป็นข้อสำคัญในคดีที่เข้าใจได้อยู่ในตัวเอง ฟ้องโจทก์จึงมีรายละเอียดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี เป็นฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 177 วรรคสอง จำคุก 3 ปี จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่ได้กระทำผิดฐานเบิกความเท็จตามฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่าเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) โดยยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเบิกความเท็จตามฟ้องหรือไม่ เพื่อให้การวินิจฉัยความผิดของจำเลยเป็นไปตามลำดับศาล เพราะผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการฎีกาของคู่ความได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 177 , 181
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 177 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 181 (2) จำคุก 4 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุก 3 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) หรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องบรรยายว่า จำเลยเบิกความเป็นพยานในคดีอาญาอื่น ระหว่าง พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ จ่าสิบตำรวจสมจิตร บุญเกลือ จำเลย ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองและพาอาวุธปืนติดตัวไปโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยเบิกความในชั้นศาลว่า “ในวันเกิดเหตุขณะทานข้าว นั่งหันหลังไม่ได้ยินเสียงโต้เถียง นั่งทานข้าว 1 ชั่วโมง เมื่อได้ยินเสียงปืนได้วิ่งหนีตัวใครตัวมัน ไม่ได้หันไปดูว่าใครเป็นคนยิงและถูกยิง ไม่เห็นเหตุการณ์ขณะที่มีการยิงกัน” ซึ่งคำเบิกความของจำเลยดังกล่าวเป็นความเท็จในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาลและความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี เพราะความจริงแล้วในวันเกิดเหตุ ขณะนั่งรับประทานอาหาร จำเลยได้ยินเสียงคนทะเลาะกัน และเห็นนายจิตรไม่ทราบนามสกุลซึ่งนั่งอยู่ที่โต๊ะดังกล่าวลุกขึ้นยืนและเรียกนายโป้งกับนายโอซึ่งนั่งอยู่โต๊ะเดียวกันว่าถ้ามีปัญหาอะไรให้ออกมาข้างนอก นายโป้งและนายโอไม่ยอมออก จำเลยเกรงว่าจะมีเรื่อง จึงได้เดินเข้าไปห้ามและดึงตัวนายจิตรออกมา และได้บอกนายโป้งว่านายจิตรเป็นตำรวจจะให้ขอโทษ แต่นายจิตรไม่ยอมออกมาและได้เข้าไปเตะนายโป้งที่ต้นคอ 1 ครั้ง จำเลยจึงได้ดึงนายจิตรออกมา แต่นายจิตรไม่ยอมออกมาคงนั่งอยู่ที่โต๊ะดังกล่าวต่อไป จากนั้นประมาณ 3 นาที จำเลยเห็นนายโป้งหยิบขวดเบียร์บนโต๊ะตีนายจิตร นายจิตรใช้มือปัด พร้อมกับลุกขึ้นถอยหลังออกมาและใช้มือขวาชักอาวุธปืนจากกระเป๋าด้านหน้าข้างขวา เป็นอาวุธปืนสีขาวแม็กกาซีน ชี้และยิงไปที่นายโป้ง 1 นัด และนายโป้งล้มลง นายจิตรได้เข้าไปหานายโป้งในระยะห่างประมาณ 1 เมตร และได้จ่อยิงนายโป้งบริเวณศีรษะอีก 1 นัด จากนั้นนายจิตรได้หลบหนีไป แม้คดีนี้โจทก์ได้บรรยายฟ้องเพียงว่า คำเบิกความของจำเลยเป็นข้อสำคัญในคดี โดยมิได้บรรยายรายละเอียดว่าข้อความอันเป็นเท็จที่จำเลยเบิกความเป็นข้อสำคัญในคดีก่อนอย่างไรก็ตาม แต่โจทก์ก็ได้บรรยายถึงการเบิกความอย่างไรเป็นความเท็จและความจริงเป็นอย่างไร ซึ่งในคดีที่จำเลยเบิกความนั้นจ่าสิบตำรวจสมจิตร บุญเกลือถูกฟ้องเป็นจำเลยข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองและพาอาวุธปืนติดตัวไปโดยไม่ได้รับอนุญาต ข้อที่ว่าจ่าสิบตำรวจสมจิตรเป็นคนร้ายฆ่าผู้ตายโดยใช้อาวุธปืนยิงหรือไม่นั้นเป็นข้อสำคัญในคดีดังกล่าว เมื่อความจริงจำเลยเห็นว่า นายจิตร (ซึ่งหมายถึงจ่าสิบตำรวจสมจิตร) ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย แล้วมาเบิกความว่าไม่ได้หันไปดูว่าใครเป็นคนยิงและถูกยิงไม่เห็นเหตุการณ์ขณะที่มีการยิงกัน คำเบิกความของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องย่อมเป็นข้อสำคัญในคดีที่เข้าใจได้อยู่ในตัวเอง ฟ้องโจทก์จึงมีรายละเอียดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี เป็นฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แต่เนื่องจากคดีนี้จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิดฐานเบิกความเท็จตามฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่าเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) โดยยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเบิกความเท็จตามฟ้องหรือไม่ เพื่อให้การวินิจฉัยความผิดของจำเลยเป็นไปตามลำดับศาลเพราะผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการฎีกาของคู่ความได้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี.

Share