คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 172/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินคนเดิมยอมให้ประชาชนทั่วไปใช้ทางพิพาทสัญจรไปมาเป็นเวลานานหลายสิบปี ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้อุทิศที่ดินตามทางพิพาทให้เป็นสาธารณะโดยปริยายแล้วทางพิพาทจึงเป็นทางสาธารณะ จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับโอนที่ดินมาจากจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิปิดกั้นและไม่มีอำนาจห้ามมิให้ประชาชนใช้สัญจรผ่านไปมา.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาทางและที่สาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร เดิมจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2266 แขวงบางจากฝั่งเหนือ เขตภาษีเจริญกรุงเทพมหานคร ในที่ดินแปลงดังกล่าวของจำเลยที่ 1 มีทางเดินกว้างประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 40 เมตร อยู่เกือบชิดและขนานไปกับแนวที่ดินด้านทิศตะวันออกซึ่งทางพิพาทดังกล่าวประชาชนใช้ร่วมกันมากว่า 30 ปี โดยจำเลยที่ 1 สละสิทธิ์ในทางพิพาทนั้นและไม่หวงห้ามถือว่าทางพิพาทดังกล่าวเป็นทางสาธารณะอันเป็นที่สาธารณประโยชน์ของแผ่นดินเพื่อประชาชนใช้ร่วมกัน ต่อมาปลายปี 2524 จำเลยที่ 1 ได้ขอแบ่งแยกที่ดินออกเป็น 9 แปลง ทางพิพาทยังคงติดอยู่ในที่ดินจำเลยที่ 1 โฉนดเลขที่ 62254 ถึง 62257 รวม 4 แปลง ต่อมาต้นปี 2527 จำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินโฉนดดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2โดยจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าทางพิพาทซึ่งเป็นทางสาธารณะอยู่ในที่ดินที่รับโอนจากจำเลยที่ 1 ต่อมาเดือนมีนาคม 2527 จำเลยทั้งสองได้ปิดกั้นทางพิพาทเพื่อไม่ให้ประชาชนเดินผ่าน ซึ่งโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปิดกั้นทางพิพาทแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปิดกั้นทางพิพาทออกไปเสียและทำให้ทางพิพาทกลับสู่สภาพเดิม
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 2266 เป็นของจำเลยทั้งสองและไม่ใช่ทางสาธารณะใด ๆ จำเลยทั้งสองไม่เคยยินยอมให้ประชาชนใช้เดินผ่านทางพิพาท จำเลยทั้งสองยังคงหวงกรรมสิทธิ์ในทางพิพาทและไม่เคยแสดงเจตนาสละกรรมสิทธิ์หรือยกที่ดินส่วนใดส่วนหนึ่งให้เป็นทางสาธารณะดังฟ้องของโจทก์ จำเลยทั้งสองไม่ได้ปิดกั้นทางสาธารณะและฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนายบุญช่วย พูลสินากร กำนันท้องที่ซึ่งทางพิพาทตั้งอยู่เป็นพยานเบิกความว่า ทางพิพาทเป็นทางเดินในสวนกว้างประมาณ 1 เมตรยาวประมาณ 42 เมตร ประชาชนที่อาศัยอยู่ในหมู่ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4ที่ 6 และที่ 7 ได้ใช้เดินเข้าออกจากหมู่บ้านไปถนนเพชรเกษมมาเป็นเวลากว่า 30 ปี แล้ว โดยไม่มีการหวงห้าม เจ้าของที่ดินก็ใช้ทางดังกล่าวด้วย ต่อจากทางพิพาทไปเป็นทางสะพานไม้ที่ทางกรุงเทพมหานครสร้างขึ้น ซึ่งจุดที่เชื่อมต่อกันได้สร้างเข้ามาในทางพิพาทประมาณ50 เซนติเมตร และทางพิพาทสามารถเดินได้สะดวกไม่ต้องทำสะพานให้สูงขึ้น พยานอยู่ในเขตท้องที่ตลอดมา เป็นทั้งผู้ใหญ่บ้านและกำนันย่อมทราบถึงลักษณะสภาพความเป็นมาของทางพิพาทเป็นอย่างดี และไม่เคยมีเรื่องโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสอง จึงไม่มีเหตุที่จะเบิกความเพื่อให้จำเลยทั้งสองต้องเสียประโยชน์ไป นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายบุญเหลือ เครือไชย นายทอง บำรุงนิช นายจำรัส เขียวแก่นายบุญนาค เขียวแก่ และนางยุพิน แดงไพโรจน์ ผู้ใช้ทางพิพาทเป็นพยานเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า ได้ใช้ทางพิพาทเดินเข้าออกอยู่เป็นประจำติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายสิบปีจำเลยทั้งสองไม่เคยหวงห้ามแต่อย่างใด จนกระทั่งปี 2527 ได้มีถนนลาดยางผ่านที่ดินของจำเลยที่ 2ทางด้านทิศตะวันตกออกสู่ถนนเพชรเกษม แต่ทางพิพาทอยู่ทางด้านทิศตะวันออก จำเลยทั้งสองจึงปิดทางพิพาทเสีย ดังนี้ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยหวงห้ามการใช้ทางพิพาทและถ้าไม่มีทางใหม่แล้วจำเลยทั้งสองย่อมจะไม่ปิดกั้นทางพิพาทและยอมให้ประชาชนใช้ได้ตลอดไป โดยไม่มีการหวงห้าม ปรากฏว่าประชาชนที่ใช้ทางพิพาทเดินเข้าออกมีจำนวนมากและหลายหมู่บ้านด้วยกัน เท่าที่ร้องเรียนกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ปิดทางพิพาทตามหนังสือเอกสารหมายจ.8 ก็มีอยู่ถึง 70 คน โดยกล่าวระบุว่าได้ใช้ทางพิพาทเดินกันมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ซึ่งความข้อนี้จำเลยทั้งสองและพยานของจำเลยก็เบิกความยอมรับว่าเป็นความจริง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบการที่จำเลยที่ 1 เจ้าของที่ดินคนเดิมยอมให้ประชาชนทั่วไปใช้ทางพิพาทสัญจรไปมาเป็นเวลาช้านานหลายสิบปีเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1ได้อุทิศที่ดินตามทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณะโดยปริยายแล้วทางพิพาทจึงเป็นทางสาธารณะ จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิปิดกั้นและไม่มีอำนาจห้ามมิให้ประชาชนใช้สัญจรผ่านไปมาได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปิดกั้นออกไปจากทางพิพาทและทำให้ทางพิพาทกลับอยู่ในสภาพเดิม.

Share