คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1251/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสี่ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ แต่ให้ขังจำเลยทั้งสี่ระหว่างฎีกาผู้ประกันทำสัญญาประกันจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไปจากศาลชั้นต้นถึงวันนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ผู้ประกันไม่สามารถส่งตัวจำเลยทั้งสองนี้ได้ ศาลชั้นต้นปรับเต็มจำนวนตามสัญญาประกันคนละ 600,000 บาท ต่อมาศาลฎีกาพิพากษาแก้ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 3 ที่ 4 ยกฟ้องผู้ประกันนำตัวจำเลยที่ 3 มาส่งศาลและของด หรือลดค่าปรับ ศาลสอบถามถึงการชำระค่าปรับในส่วนที่เกี่ยวกับการประกันจำเลยที่ 2แล้ว ผู้ประกันขอชำระเงินค่าปรับ 300,000 บาท ส่วนที่เหลือขอผ่อนชำระเดือนละ 20,000 บาท จนกว่าจะครบ ศาลชั้นต้นให้รับเงินและผ่อนชำระได้ ดังนี้ เมื่อปรากฎว่าผู้ประกันทำสัญญาประกันจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นฉบับเดียวกันศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจสั่งปรับผู้ประกันเพราะผิดสัญญาประกันในคำสั่งเดียวกันได้ และเมื่อภายหลังผู้ประกันนำตัวจำเลยที่ 3 มาส่งศาลหลังวันที่ศาลชั้นต้นสั่งปรับผู้ประกันเป็นเวลา 1 เดือนเศษ ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจที่จะมีคำสั่งลดค่าปรับผู้ประกันเฉพาะจำเลยที่ 3 ภายในเงื่อนไขซึ่งเกี่ยวพันกับการปรับผู้ประกันในส่วนของจำเลยที่ 2 ว่าต้องชำระค่าปรับที่เห็นควรลดให้มาแล้วนั้นภายใน 1 เดือนและต้องไม่ผิดนัดการชำระค่าปรับสำหรับจำเลยที่ 2 ด้วยมิฉะนั้นให้ปรับเต็มตามสัญญาประกันได้ ตามที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสี่ จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องแต่ให้ขังจำเลยทั้งสี่ไว้ระหว่างฎีกาเว้นแต่จะมีประกันตัวไปนายเชน สันติกาล ผู้ประกันทำสัญญาประกันจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปจากศาลชั้นต้น โดยศาลตีราคาประกันจำเลยคนละ 600,000บาท ครั้นครบกำหนดนัดวันฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ผู้ประกันไม่สามารถส่งตัวจำเลยทั้งสองต่อศาลได้ ศาลชั้นต้นเห็นว่าผู้ประกันผิดสัญญาประกันและมีคำสั่งปรับผู้ประกันเต็มจำนวนตามสัญญาประกัน และออกหมายจับจำเลยทั้งสี่เพื่อนำตัวมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกา แต่ยังไม่ได้ ศาลชั้นต้นจึงอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2528 ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ยกฟ้องต่อมาวันที่ 15 และ 16 มกราคม 2529 ผู้ประกันยื่นคำร้องรวม2 ฉบับ มีใจความว่า ผู้ประกันติดตามนำตัวจำเลยที่ 3 มาส่งศาลไว้แล้ว ได้สอบถามจำเลยที่ 3 ปรากฎว่าเหตุที่จำเลยที่ 3 ไม่มาศาลเพราะไม่ได้รับหมายนัดของศาลเนื่องจากหมายนัดส่งไปยังกำนันต่างท้องที่กับที่จำเลยที่ 3 พักอาศัยอยู่ ผู้ประกันเสียค่าใช้จ่ายในการติดตามหาจำเลยที่ 3เป็นจำนวนมาก จึงขอให้ศาลงดปรับหรือลดค่าปรับให้เหลือน้อยที่สุด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องเป็นผู้ประกันจำเลยที่ 2ด้วย ศาลสั่งปรับสำหรับการประกันตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3คนละ 600,000 บาท ผู้ร้องยังไม่ได้ชำระค่าปรับเลย ได้เรียกผู้ร้องมาสอบถามแล้ว ผู้ร้องแถลงขอชำระค่าปรับ 300,000 บาทภายในกำหนด 3 เดือน ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ส่วนที่เหลือขอผัดชำระต่อไปในคราวหน้า จึงให้รอฟังผลการปฎิบัติ เรื่องชำระค่าปรับของผู้ร้องก่อน วันที่ 16 เมษายน 2529 ผู้ประกันยื่นคำร้องว่า ขอนำเงินค่าปรับจำนวน 300,000 บาท วางชำระค่าปรับเฉพาะจำเลยที่ 2 ส่วนจำนวน 300,000 บาท ที่เหลือขออนุญาตชำระเป็นเดือน เดือนละ 20,000 บาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่ารับเงิน 300,000 บาท ส่วนค่าปรับสำหรับจำเลยที่ 2ที่ค้างอีก 300,000 บาท ให้ผ่อนชำระได้ในอัตราเดือนละ 20,000บาท ให้ชำระเดือนแรกภายในวันที่ 16 พฤษภาคม 2529 ชำระเดือนต่อ ๆ ไปภายในวันที่ 16 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบผิดนัดเดือนใดให้บังคับคดีในค่าปรับที่ค้างทั้งหมดทันที และในวันเดียวกันนั้นผู้ประกันยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นพร้อมกันอีกฉบับหนึ่งขอให้ศาลลดค่าปรับหรืองดปรับในส่วนของจำเลยที่ 3เนื่องจากผู้ประกันจับจำเลยที่ 3 ส่งศาลได้แล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3 สามารถนำตัวจำเลยที่ 3 มาส่งศาลได้ สมควรลดค่าปรับให้ ให้ปรับผู้ประกันสำหรับการประกันตัวจำเลยที่ 3 เพียง 50,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องชำระค่าปรับดังกล่าวภายในกำหนด 1 เดือนและต้องไม่ผิดนัดการชำระค่าปรับสำหรับจำเลยที่ 2 ด้วยมิฉะนั้นให้ปรับเต็มตามสัญญาประกัน
ผู้ประกันอุทธรณ์ ขอให้ลดค่าปรับลงอีก และควรแยกสัญญาประกันจำเลยที่ 2 ออกจากจำเลยที่ 3 เงื่อนไขการชำระค่าปรับสำหรับจำเลยที่ 3 จึงไม่ควรผูกพันกับการชำระค่าปรับของจำเลยที่ 2
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ประกันฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ที่ผู้ประกันฎีกาขอลดค่าปรับโดยอ้างเหตุผลว่า ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 11 ธันวาคม 2528 ผู้ประกันนำจำเลยที่ 3มาส่งศาลชั้นต้นวันที่ 15 มกราคม 2529 วันที่ 15 มกราคม 2529โดยใช้เวลา 1 เดือน 4 วัน เสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากตามหลักฐานที่ส่งศาล โดยมิได้รู้เห็นเป็นใจกับจำเลยที่ 3 จึงขอให้ลดค่าปรับลงอีก และฎีกาอีกข้อหนึ่งว่าคำสั่งศาลชั้นต้นเกี่ยวกับการปรับผู้ประกันเฉพาะจำเลยที่ 3 ให้มีเงื่อนไขเกี่ยวพันกับการปรับผู้ประกันในส่วนของจำเลยที่ 2 เป็นการไม่ชอบนั้น ตามข้อเท็จจริงได้ความว่า เดิมศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษให้จำคุกจำเลยทั้งสี่ตลอดชีวิต เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตจำเลยที่ 2 เป็นโทษจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 51 เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 อีกกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 75 ปีศาลอุทธรณ์พิพากษากับให้ยกฟ้องโจทก์ ของกลางริบศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15, 66 วรรคสอง ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ตลอดชีวิต ส่วนจำเลยที่ 3 ที่ 4 ให้ยกฟ้องของกลางริบ แต่ก่อนวันนัดฟังคำพิพากษา ศาลฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 มีประกันตัวเมื่อวันที่15 ธันวาคม 2526 ต่อมาศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาวันที่ 1 ตุลาคม 2528 จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่มาศาล ผู้ประกันอ้างว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 เปิดร้านค้าขายอยู่ที่อำเภอแม่สายจังหวัดเชียงราย ยังติดต่อไม่ได้ ศาลชั้นต้นเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาไปวันที่ 6 พฤศจิกายน 2528 จำเลยที่ 2ที่ 3 ไม่มาศาล ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้ปรับผู้ประกันออกหมายจับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 11 ธันวาคม 2528 ถึงวันนัดจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่มาศาลศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ดำเนินการบังคับคดีตามสัญญาประกันเมื่อวันที่ 17 เดือนเดียวกัน วันที่ 15 มกราคม 2529ผู้ประกันนำตัวจำเลยที่ 3 ส่งศาลชั้นต้นพร้อมกับยื่นคำร้องขอลดค่าปรับ อ้างเหตุว่า เหตุที่จำเลยที่ 3 ไม่ไปฟังคำพิพากษาศาลฎีกาตามนัด เพราะจำเลยที่ 3 ไปทำงานที่ภาคใต้ ไม่ได้รับหมายนัดของศาลชั้นต้น และยื่นคำร้องเพิ่มเติมลงวันที่ 16 มกราคม 2529 กับ 16 เมษายน 2529 ใจความเดียวกัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลดค่าปรับผู้ประกันเฉพาะจำเลยที่ 3 เหลือจำนวน 50,000บาท โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องชำระค่าปรับภายในกำหนด 1 เดือนและต้องไม่ผิดนัดการชำระค่าปรับจำเลยที่ 2 ด้วย มิฉะนั้นให้ปรับเต็มตามสัญญาประกัน ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีมีอัตราโทษสูง ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 75 ปี จำคุกจำเลยที่ 3 ตลอดชีวิต แม้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ แต่ผู้ประกันจำเลยที่ 2 ที่ 3 ระหว่างฎีกาก็พึงตระหนักว่าจะต้องมีหน้าที่ปฎิบัติ ตามสัญญาประกันลงวันที่ 15 ธันวาคม 2526 มิฉะนั้นจะต้องถูกปรับคนละ 600,000บาท เมื่อปรากฎต่อมาว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่มาฟังคำพิพากษาศาลฎีกาตามหมายนัดจนศาลชั้นต้นออกหมายจับ ลงวันที่ 6พฤศจิกายน 2528 แล้ว ผู้ประกันซึ่งผิดสัญญาประกันไม่นำตัวจำเลยที่ 2 ที่ 3 มาศาลตามนัด ก็ต้องชำระค่าปรับตามสัญญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 ซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่ผิดสัญญาประกันต่อศาล ศาลมีอำนาจสั่งบังคับตามสัญญาประกันหรือตามที่ศาลเห็นสมควรโดยมิต้องฟ้อง”และเมื่อผู้ประกันทำสัญญาประกันจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นฉบับเดียวกันเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2526 ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจสั่งปรับผู้ประกันเพราะเหตุผิดสัญญาประกันในคำสั่งเดียวกันได้ และเมื่อภายหลังผู้ประกันนำตัวจำเลยที่ 3 มาส่งศาลชั้นต้น หลังวันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ปรับผู้ประกันเวลา1 เดือนเศษ ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจที่จะมีคำสั่งลดจำนวนค่าปรับผู้ประกันเฉพาะจำเลยที่ 3 ภายในเงื่อนไขซึ่งเกี่ยวพันกับการปรับผู้ประกันในส่วนของจำเลยที่ 2 ได้ ตามที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 119 นั้นเอง โดยไม่จำต้องแยกคำสั่งปรับผู้ประกันกรณีผิดสัญญาประกันตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกจากกันดังที่ผู้ประกันฎีกา นอกจากนี้เมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 หลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาศาลฎีกาตามนัด จนทราบว่า ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 แล้ว ผู้ประกันจึงสามารถนำตัวจำเลยที่ 3 มาศาลหลังเกิดเหตุ 1 เดือนเศษที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นลดค่าปรับในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 จากจำนวน 600,000 บาท เหลือเพียง 50,000 บาทโดยมีเงื่อนไขให้ผู้ประกันผ่อนชำระค่าปรับกรณีผู้ประกันผิดสัญญาประกันเฉพาะจำเลยที่ 2 ให้ครบตามกำหนดเวลาในคำร้องของผู้ประกันลงวันที่ 16 เมษายน 2529 นั้น แม้จะฟังว่าผู้ประกันต้องเสียค่าใช้จ่ายติดตามตัวจำเลยมาศาล แต่ก็เห็นว่าเป็นคุณแก่ผู้ประกันอยู่แล้ว ศาลฎีกาไม่มีเหตุแก้ไข
พิพากษายืน

Share