คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1717/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลว่า จำเลยยินยอมชำระเงินให้โจทก์จำนวนหนึ่งภายใน 6 เดือน โดยจำเลยจะผ่อนชำระเป็นรายเดือน หากจำเลยผิดนัดงวดใดให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยินยอมให้โจทก์บังคับคดีได้และให้คิดดอกเบี้ยในเงินที่ค้างชำระนับแต่วันผิดนัด เมื่อจำเลยชำระเงินครบถ้วนแล้วโจทก์จะถอนฟ้องจำเลยในคดีอาญาในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ ดังนี้ แม้จำเลยจะผิดนัดชำระเงิน 2 งวดไม่ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาก็ตาม แต่โจทก์ก็มิได้บังคับคดีหรือคิดดอกเบี้ยจากจำเลยถือได้ว่าโจทก์จำเลยต่างมีเจตนาระงับข้อผูกพันเดิมโดยไม่ถือว่าการไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเป็นการผิดสัญญา และไม่ติดใจเรื่องดอกเบี้ยกันแล้ว เมื่อจำเลยชำระหนี้งวดสุดท้ายให้โจทก์โจทก์จะไม่รับโดยเกี่ยงจะคิดดอกเบี้ยด้วยหาได้ไม่ การที่จำเลยนำเงินนั้นไปวางที่กรมบังคับคดีภายในกำหนดตามสัญญาจึงเป็นการชำระหนี้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์ต้องถอนฟ้องคดีอาญาให้จำเลย และมีผลเป็นการยอมความในคดีอาญาสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว สั่งประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ จำคุก ๑ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่าโจทก์จำเลยยอมความกันแล้วที่ศาลแพ่ง สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับ ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติว่าจำเลยกระทำความผิดจริงตามฟ้อง ปัญหาว่าระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ สิทธินำคดีนี้มาฟ้องระงับไปแล้วหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ต่อไปว่า ระหว่างอุทธรณ์โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันที่ศาลแพ่งในคดีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเงินตามเช็คพิพาทว่า ‘ข้อ ๑ จำเลยยินยอมชำระเงินจำนวน๒๐๘,๙๕๐ บาทแก่โจทก์ให้เสร็จสิ้นภายใน ๖ เดือน นับแต่วันทำสัญญานี้ โดยจะทำการผ่อนชำระเป็นรายเดือน เดือนละไม่ต่ำกว่า ๓๐,๐๐๐ บาท เริ่มชำระงวดแรกภายในวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๒๙และงวดต่อไปในทุกวันที่ ๔ ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบเต็มจำนวน….. ข้อ ๒ หากจำเลยผิดนัดการชำระเงินงวดหนึ่งงวดใด ให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยินยอมให้โจทก์บังคับคดีทั้งหมดได้ทันที โดยให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งในเงินที่คงค้างชำระนับแต่วันผิดนัด ข้อ ๓ เมื่อจำเลยชำระเงินครบถ้วนตามข้อ ๑ แล้ว โจทก์จะถอนฟ้องจำเลยในคดีอาญา…..ข้อ ๔ ………. ข้อ ๕ ……….’ จำเลยได้ชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว ๒ ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๒๙ ด้วยเช็คจำนวนเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๒๙ด้วยสร้อยข้อมือเพชร ตีราคาเป็นเงิน ๗๕,๐๐๐ บาท และจำเลยพร้อมชำระให้โจทก์สำหรับหนี้ที่เหลือ ๘๓,๙๐๐ บาท ด้วยตั๋วแลกเงินของธนาคาร แต่โจทก์ไม่ยอมรับโดยเกี่ยงจะเอาดอกเบี้ยอ้างว่าจำเลยผิดนัด จำเลยจึงนำเงินจำนวนดังกล่าวไปวางไว้ที่กองคลัง กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรมเป็นการชำระหนี้โจทก์เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๒๙ ปัญหามีว่า ถือได้หรือยังว่าจำเลยชำระเงินให้โจทก์ครบถ้วนตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว อันเป็นเหตุให้โจทก์จะต้องถอนฟ้องคดีนี้ตามที่ตกลงไว้ กล่าวคือ สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นการยอมความในคดีอาญาซึ่งมีเงื่อนไข และเงื่อนไขนั้นได้ลุล่วงแล้วอันเป็นเหตุให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป ศาลฎีกาเห็นว่า ตามสัญญาข้อ ๓ ระบุเพียงว่าเมื่อจำเลยชำระเงินครบถ้วนตามข้อ ๑ แล้ว โจทก์จะถอนฟ้องจำเลยในคดีอาญา มิได้คำนึงว่าจะมีการผิดนัดในระหว่าง ๖ เดือนนั้น อันจะเป็นเหตุให้ต้องบังคับคดีและคิดดอกเบี้ยกันหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ไปแยกระบุไว้ต่างหากเป็นข้อ ๒ ซึ่งไม่เป็นเงื่อนไขในการจะถอนฟ้อง ทั้งในทางปฏิบัติโจทก์เองก็รับชำระหนี้จากจำเลยสองครั้งเมื่อวันที่ ๒๔ และ๒๖ มิถุนายน ๒๕๒๙ ตามลำดับ ซึ่งผิดสัญญาที่นัดชำระหนี้งวดแรกและงวดที่สองวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๒๙ กับวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๒๙ตามลำดับ โดยโจทก์มิได้อิดเอื้อนหรือเกี่ยงงอนจะบังคับคดีหรือคิดดอกเบี้ยจากจำเลยแต่ประการใด ถือได้ว่าโจทก์จำเลยต่างมีเจตนาจะระงับข้อผูกพันเดิม โดยไม่ถือว่าการไม่ชำระหนี้ตามกำหนดนัดในสัญญาเป็นการผิดสัญญา นั่นคือไม่ติดใจเรื่องดอกเบี้ยกันแล้วนั้นเอง เมื่อจำเลยจะชำระหนี้งวดสุดท้ายให้โจทก์ โจทก์ไม่รับโดยเกี่ยงจะคิดดอกเบี้ยด้วยจึงไม่ชอบ ฉะนั้น เมื่อจำเลยนำเงินนั้นไปวางที่กองคลัง กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ในเดือนสิงหาคม ๒๕๒๙ ซึ่งอยู่ในกำหนด ๖ เดือน นับแต่วันทำสัญญา จึงเป็นการชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนตามสัญญาแล้ว โจทก์มีความผูกพันที่จะต้องถอนฟ้องคดีอาญาให้จำเลยตามข้อตกลง กรณีจึงมีผลเป็นการยอมความในคดีอาญา สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ (๒)
พิพากษายืน.

Share