แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 225 ตั้งแต่สองอนุมาตราขึ้นไป เข้าองค์ประกอบของมาตรา 335 วรรคสามศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามบทมาตราดังกล่าวโดยไม่ได้ระบุวรรคศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิพากษาแก้ระบุวรรคให้ถูกต้องและชัดเจนยิ่งขึ้นได้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ถึงปัญหานี้เพราะมิได้เป็นการเพิ่มโทษจำเลยแต่อย่างใด แต่ที่แก้เป็นมาตรา 335 วรรสองนั้นยังไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาย่อมแก้ให้ถูกต้องเป็นมาตรา 335 วรรคสามได้
จำเลยขอแก้ไขเพิ่มเติมฎีกาข้อ ก. มาในกำหนดระยะเวลาที่จะฎีกาได้ แต่เมื่อศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาของจำเลยในข้อ ก. แล้ว จึงไม่มีฎีกาในข้อ ก. ที่จะให้จำเลยขอแก้ไขเพิ่มเติมได้ ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาติให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมฎีกาในข้อ ก. มาจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน ๗๖,๓๒๕ แก่เจ้าทรัพย์
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ จำคุก ๒ ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน ๗๖,๓๒๕ บาทแก่เจ้าทรัพย์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ วรรคสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของจำเลยในข้อ ข. ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับมาเพียงข้อเดียวว่า การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ และศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ วรรคสอง นั้น เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ เพราะฟ้องโจทก์อ้างฐานความผิดและบทมาตราเพียงว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ เท่านั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ นั้น มีอยู่หลายวรรคด้วยกัน และแต่ละวรรคโทษไม่เท่ากัน แม้โจทก์จะขอมาท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ โดยมิได้ระบุวรรค แต่โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยกระทำความผิดในเวลากลางคืน โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์แล้วปีนเข้าทางช่องทางซึ่งได้ทำขึ้นโดยไม่จำนงให้เป็นทางคนเข้าและลักทรัพย์ในเคหสถาน อันเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (๑) (๓) (๔) และ (๘) ของมาตรา ๓๓๕ ตั้งแต่สองอนุมาตราขึ้นไป เข้าองค์ประกอบของมาตรา ๓๓๕ วรรคสาม เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามโจทก์ฟ้อง ศาลก็ชอบที่จะปรับบทลงโทษจำเลยตามวรรคที่ถูกต้องได้และเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าวโดยมิได้ระบุวรรคให้ถูกต้อง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ถึงปัญหานี้ก็ตาม ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจโดยชอบที่จะพิพากษาแก้ระบุวรรคเสียให้ถูกต้องและชัดเจนยิ่งขึ้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง หาเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ ดังฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ วรรคสอง นั้น ยังไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้เสียให้ถูกต้องด้วย
อนึ่ง ปรากฏว่าคดีนี้จำเลยฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มา ๒ ข้อ โดยระบุเป็นข้อ ก. และข้อ ข. ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยเฉพาะข้อ ข. โดยเห็นว่าฎีกาของจำเลยในข้อ ก. เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ จึงไม่รับ และจำเลยก็มิได้อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งนี้แต่อย่างใด แล้วต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขและเพิ่มเติมฎีกาในข้อ ก. ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อเดิมศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยในข้อ ก. แล้ว จึงไม่มีฎีกาในข้อ ก. ที่จะให้จำเลยขอแก้ไขเพิ่มเติมได้แม้จำเลยจะได้ขอแก้ไขเพิ่มเติมฎีกาในข้อ ก. มาในกำหนดระยะเวลาที่จะฎีกาได้ก็ตามก็ไม่อาจจะขอแก้ไขเพิ่มเติมข้อฎีกาที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับแล้วได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ วรรคสาม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์