คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1717/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยจ่ายค่าอาหารให้แก่โจทก์หรือลูกจ้างอื่นซึ่งทำงานประจำอยู่ที่สำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพมหานคร เนื่องจากทางสำนักงานใหญ่ไม่ได้จัดอาหารเลี้ยงดังเช่นลูกจ้างที่โรงงานสีคิ้ว การจ่ายค่าอาหารให้จึงเป็นการให้ความสงเคราะห์แก่ลูกจ้างของจำเลย อันมีลักษณะเป็นการให้สวัสดิการแก่ลูกจ้าง มิได้จ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติ ฉะนั้น ไม่ว่าจะเรียกว่า เป็นค่าอาหารหรือค่าครองชีพและจะจ่ายให้เป็นประจำทุกเดือนหรือไม่ก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะนำเงินค่าอาหารมารวมเป็นฐานในการคิดคำนวณสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ ครั้งสุดท้ายได้รับค่าจ้างเดือนละ ๖,๙๐๐ บาท และค่าครองชีพเดือนละ ๙๕๐ บาท จ่ายค่าจ้างทุกวันที่ ๑๕ และวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๒๙ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า และไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน ๔,๔๐๐ บาท และค่าชดเชยเป็นเงิน ๔๗,๑๐๐ บาทแก่โจทก์
จำเลยให้การว่าโจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ ๖,๙๐๐ บาท แต่โจทก์ไม่ได้รับค่าครองชีพ
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำนวน ๔,๔๐๐ บาท และค่าชดเชยจำนวน ๔๗,๑๐๐ บาทแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยได้มีคำสั่งย้ายโจทก์ไปประจำที่โรงงานอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๒๙ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายของโจทก์นั้นจะต้องเป็นอัตราค่าจ้างในเดือนธันวาคม ๒๕๒๙ ซึ่งไม่มีค่าครองชีพรวมอยู่ด้วย จึงนำค่าครองชีพมารวมเป็นฐานในการคำนวณสินจ้างแทนการบอกกล่างล่วงหน้าและค่าชดเชยไม่ได้นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จะจำเงินมาคำนวณสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยนั้นต้องคิดคำนวณจากค่าจ้าง จากข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันดังกล่าวมาแล้วข้างต้นพึงเห็นได้ว่า การที่จำเลยจ่ายค่าอาหารให้แก่โจทก์หรือลูกจ้างอื่นซึ่งประจำอยู่ที่สำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพมหานครนั้น ก็เพราะทางสำนักงานใหญ่ไม่ได้จัดอาหารเลี้ยงดังเช่นลูกจ้างที่โรงงานอำเภอสี่คิ้ว การจ่ายค่าอาหารให้จึงเป็นการให้ความสงเคราะห์แก่ลูกจ้างของจำเลยอันมีลักษณะเป็นการใหสวัสดิการแก่ลูกจ้าง เงินจำนวนดังกล่าวมิได้จ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติ ฉะนั้นไม่ว่าจะเรียกเงินดังกล่าวว่า เป็นค่าอาหารหรือค่าครองชีพและจะจ่ายให้เป็นประจำทุกเดือนหรือไม่ก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้างตามความหายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะนำเงินจำนวน ๙๕๐ บาทนี้มารวมเป็นฐานในการคิดคำนวณสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยได้ อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำนวน ๓,๔๕๐ บาท และค่าชดเชยจำนวน ๔๑,๔๐๐ บาท ให้แก่โจทก์

Share