คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6223/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดสูงสุดร้อยละ 14.50 ต่อปี กับจำเลยในวันทำสัญญากู้ยืมเงิน เป็นการคิดดอกเบี้ยที่เกินกว่าธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์คิดดอกเบี้ยและส่วนลดจากลูกค้าทุกประเภทได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) บวกส่วนต่าง (MARGIN) สูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศ ซึ่งขณะที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์คิดดอกเบี้ย MRR ร้อยละ 6.50 ต่อปี ส่วนต่างสูงสุดร้อยละ 4.00 ต่อปี เท่ากับร้อยละ 10.50 ต่อปี การคิดดอกเบี้ยของโจทก์กับจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 (2) ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน 51,401,380.19 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 45,675,709.70 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 56132, 56390, 56088, 56089, 56092 และ 56137 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี (บางพลีใหญ่) จังหวัดสมุทรปราการ กับที่ดินโฉนดเลขที่ 195879, 148991, 195880, 195881, 132181 และ 132182 ตำบลบางนา อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งห้าให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน 50,000,000 บาท แก่โจทก์ โดยให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์มาแล้วนับแต่วันทำสัญญากู้ยืมเงิน (วันที่ 19 ธันวาคม 2545) จนถึงวันที่ 7 เมษายน 2548 ไปหักออกจากต้นเงินจำนวน 50,000,000 บาท เมื่อเหลือต้นเงินจำนวนเท่าใดให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินคงเหลือจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 เมษายน 2548 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์จนครบถ้วนหากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 56132, 56390, 56088, 56089, 56092 และ 56137 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี (บางพลีใหญ่) จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และที่ดินโฉนดเลขที่ 195879, 148991, 195880, 195881, 132181 และ 132182 ตำบลบางนา อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน กับให้จำเลยทั้งห้าชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน 50,000,000 บาท แก่โจทก์ โดยให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์มาแล้วนับแต่วันทำสัญญากู้ยืมเงิน (วันที่ 19 ธันวาคม 2545) จนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 ไปหักออกจากต้นเงินจำนวน 50,000,000 บาท เมื่อเหลือต้นเงินจำนวนเท่าใดให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระต้นเงินคงเหลือดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 มีนาคม 2548 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2548 จำนวน 380,000 บาท วันที่ 30 กันยายน 2548 จำนวน 1,000,000 บาท วันที่ 31 ตุลาคม 2548 จำนวน 350,000 บาท วันที่ 3 มกราคม 2549 จำนวน 321.78 บาท และวันที่ 5 เมษายน 2549 จำนวน 1,000,000 บาท ไปหักชำระดอกเบี้ยก่อนหากมีเงินเหลือจึงหักชำระต้นเงินต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่โต้แย้งฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 4 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อพร้อมประทับตราสำคัญกระทำการแทนจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2545 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงิน (ประจำ) จากโจทก์ ที่สำนักงานธุรกิจสวนมะลิ จำนวน 50,000,000 บาท ตกลงเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามประกาศของโจทก์ ซึ่งขณะทำสัญญาเท่ากับอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี นับแต่วันทำสัญญาเป็นต้นไป และตกลงชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เป็นรายเดือนทุกเดือน เริ่มผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนมกราคม 2546 และจะชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2554 มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 56132 และ 56390 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี (บางพลีใหญ่) จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 17,000,000 บาท จำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 56088, 56089, 56092 และ 56132 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี (บางพลีใหญ่) จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 28,500,000 บาท จำเลยที่ 3 และที่ 4 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 195879 ตำบลบางนา อำเภอพระโขนง จังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 500,000 บาท จำเลยที่ 4 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 148991, 195880 และ 195881 ตำบลบางนา อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร จำนวน 2,500,000 บาท และจำเลยที่ 5 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 132181 และ 132182 ตำบลบางนา อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร จำนวน 1,500,000 บาท เพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ภายหลังทำสัญญากู้ยืมเงินจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2549
คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า ที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินกัน โดยจำเลยที่ 1 ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ผู้ให้กู้ในอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี เป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ การคิดดอกเบี้ยของโจทก์จะต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 (2) ซึ่งกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 โดยตามประกาศดังกล่าวกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) รายย่อยชั้นดี (MRR) ส่วนต่าง (MARGIN) สูงสุด ที่ธนาคารพาณิชย์จะใช้บวกเข้ากับอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี และอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์จะเรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข โดยให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยและส่วนลดจากลูกค้าทุกประเภทได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) บวกส่วนต่าง (MARGIN) สูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศ และต่อมาโจทก์ได้ออกประกาศเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมและส่วนลด ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2545 โดยประกาศของโจทก์ดังกล่าวกำหนดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) และลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ร้อยละ 6.50 ต่อปี ส่วนต่างสูงสุดที่จะใช้บวกกับอัตรา MRR ร้อยละ 4.00 ต่อปี อัตราดอกเบี้ยและส่วนลดสูงสุด ร้อยละ 14.50 ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยและส่วนลด กรณีลูกค้าผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขตามสัญญา ร้อยละ 14.50 ต่อปี ซึ่งเป็นไปตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศของโจทก์จึงไม่ขัดกับประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวแต่การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดสูงสุดร้อยละ 14.50 ต่อปี กับจำเลยในวันทำสัญญากู้ยืมเงินเป็นการคิดดอกเบี้ยที่เกินกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์คิดดอกเบี้ยและส่วนลดจากลูกค้าทุกประเภทได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) บวกส่วนต่าง (MARGIN) สูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศ ซึ่งขณะที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์คิดดอกเบี้ย MRR ร้อยละ 6.50 ต่อปี ส่วนต่างสูงสุดร้อยละ 4.00 ต่อปี เท่ากับร้อยละ 10.50 ต่อปี การคิดดอกเบี้ยของโจทก์กับจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 (2) ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share