แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยโกรธแค้นผู้เสียหายซึ่งเป็นภริยาที่ไม่ยอมคืนดีด้วย และจำเลยเข้าใจว่าผู้เสียหายคบชู้ จำเลยใช้มีดปลายแหลมแทงหลายครั้งแต่ไม่ถูกเพราะผู้เสียหายเอี้ยวตัวหลบได้ทัน และ จำเลยได้ใช้มีดปาดคอผู้เสียหายจนผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บโดยมีบาดแผลที่คอ ขนาดกว้าง 1 เซนติเมตร ยาว 10 เซนติเมตรมีบาดแผลฉีกขาดถึงกะโหลกศรีษะทำให้กะโหลกศรีษะ แตก การที่จำเลยเลือกแทงร่างกาย ปาดบริเวณลำคอ และฟันศรีษะ ผู้เสียหายซึ่งเป็นอวัยวะส่วนสำคัญ และเมื่อผู้เสียหายล้มลง จำเลยยังได้ใช้มีดโต้ฟันผู้เสียหาย อีกหนึ่งครั้ง จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย จำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายและได้ลงมือกระทำความผิดไป ตลอดครบองค์ประกอบของความผิดฐานพยายามฆ่าแล้ว แต่ผู้เสียหาย ไม่ตายสมดังเจตนา จึงเป็นกรณีที่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 80 แล้ว ส่วนการที่จำเลยทิ้งมีดโต้แล้วไปสวมกอดผู้เสียหายเพราะความรัก ผู้เสียหายและรักลูกมิใช่เป็นกรณี ยับยั้งเสียเองไม่กระทำการ ให้ตลอดไป อันจำเลยไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 82
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32,33, 80, 288, 297 และริบเฉพาะมีดปลายแหลมของกลาง
จำเลยให้การรับว่าใช้มีดปลายแหลมและมีดโต้แทงและฟันทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย แต่ปฏิเสธข้อหาพยายามฆ่า
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80 เห็นสมควรลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 5 ปี ริบมีดปลายแหลมของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(8) จำคุก 4 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 2 ปี โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 2 ปี แต่ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนต่อครั้ง มีกำหนด 1 ปี และให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรเป็นเวลา 48 ชั่วโมงกับห้ามมิให้จำเลยเสพสุราและสิ่งมึนเมาตลอดระยะเวลาดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นการยับยั้งไม่กระทำการให้ตลอดเสียเองอันจะเป็นข้อยกเว้นให้จำเลยไม่ต้องรับโทษสำหรับการพยายามกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 82 หรือไม่ ซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนี้ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 222 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยว่า จำเลยและผู้เสียหายเป็นสามีภริยากัน มีบุตรด้วยกัน 3 คน จำเลยใช้มีดปลายแหลมและมีดโต้แทงและฟันผู้เสียหายเพราะมีอารมณ์โกรธแค้นที่ผู้เสียหายไม่ยอมคืนดีด้วย ประกอบกับจำเลยเข้าใจว่าผู้เสียหายคบชู้ จะไปอยู่กินกับชายอื่น การที่จำเลยใช้มีดแทงหลายครั้งแต่ไม่ถูกเพราะผู้เสียหายเอี้ยวตัวหลบได้ทันทั้งการที่จำเลยใช้มีดปาดคอผู้เสียหาย จนผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บโดยมีบาดแผลที่คอ ขนาดกว้าง 1 เซนติเมตร ยาว 10 เซนติเมตร มีบาดแผลฉีกขาดถึงกะโหลกศรีษะ ทำให้กะโหลกศรีษะแตก จำเลยเลือกแทงร่างกาย ปาดบริเวณลำคอและฟันที่ศรีษะ ซึ่งเป็นอวัยวะส่วนสำคัญ การกระทำของจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย และเมื่อผู้เสียหายล้มลง จำเลยได้ใช้มีดโต้ฟันผู้เสียหายอีกหนึ่งครั้ง ก่อนที่เจ้าพนักงานตำรวจไปถึงที่เกิดเหตุประมาณ 5 นาที จำเลยทิ้งมีดโต้แล้วร้องไห้เข้าไปสวมกอดผู้เสียหาย โดยพูดว่ารักผู้เสียหายและลูกมาก หากไม่รักผู้เสียหายและลูกแล้วก็คงฆ่าผู้เสียหายไปแล้ว พิเคราะห์แล้วเห็นว่า องค์ประกอบความผิดฐานพยายามกระทำความผิดนั้น เป็นกรณีที่มีการลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล การกระทำนั้นเป็นความผิดฐานพยายามกระทำความผิดตามที่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่า จำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายและได้ลงมือกระทำความผิดไปตลอดครบองค์ประกอบของความผิดฐานพยายามฆ่าแล้ว แม้ผู้เสียหายไม่ตายสมดังเจตนาก็เป็นกรณีที่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดในข้อหาพยายามฆ่าผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบกับมาตรา 80 แล้ว การที่จำเลยทิ้งมีดโต้แล้วไปสวมกอดผู้เสียหายเพราะความรักผู้เสียหายและรักลูกโดยเกิดจากความรู้สึกนึกคิดของจำเลยเองก็ตาม หาใช่เป็นการยับยั้งเสียเองไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ผู้เสียหายต่อไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 82 แต่อย่างใด
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น