แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.พ.พ. มาตรา 1726 บัญญัติว่า “ถ้าผู้จัดการมรดกมีหลายคน การทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นต้องถือเอาเสียงข้างมาก…ถ้าเสียงเท่ากัน เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด” ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันตามคำสั่งศาล การฟ้องคดีเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกประการหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1736 วรรคสอง ดังนั้น โจทก์แต่ผู้เดียวไม่มีอำนาจยื่นฟ้องเพียงลำพัง แม้การกระทำของจำเลยที่ 1 จะเป็นปฏิปักษ์และเสียหายต่อกองมรดกก็ตาม เพราะโจทก์สามารถยื่นคำร้องต่อศาลแสดงเหตุขัดข้องเพื่อขออนุญาตฟ้องหรือขอให้ศาลถอดถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ได้ นอกจากนี้โจทก์อาจใช้สิทธิความเป็นทายาทฟ้องคดีในฐานะส่วนตัวเพื่อให้จำเลยที่ 1 รับผิดในการจัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ก็ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งหรือพิพากษาว่านิติกรรมการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน การขายที่ดินโฉนดเลขที่ 103688 ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 และระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ตกเป็นโมฆะ และสั่งให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินดังกล่าวข้างต้น กับให้จำเลยทั้งหกร่วมกันดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้กลับคืนสู่กองมรดกของนายสง่า หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หากสภาพไม่เปิดช่องหรือไม่สามารถบังคับตามคำขอข้างต้นได้ ให้จำเลยทั้งหกร่วมกันใช้ราคาที่ดินให้แก่โจทก์เป็นเงิน 1,585,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งหกจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทตามความประสงค์ของทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกโดยสุจริตและถูกต้องตามกฎหมาย และหากโจทก์เห็นว่าตนเป็นทายาทผู้มีสิทธิก็ชอบที่จะฟ้องให้จำเลยที่ 1 แบ่งมรดกให้แก่โจทก์เท่านั้น
จำเลยที่ 2, ที่ 3, ที่ 4, ที่ 5 และที่ 6 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่กองมรดกของนายสง่า 1,585,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่ได้โต้แย้งคัดค้านว่า นายสง่า ผู้ตาย ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2533 ครั้นวันที่ 31 มกราคม 2539 นายสงัด บุตรของผู้ตายยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นขอให้ตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 374/2539 และสำเนาภาพถ่ายคำสั่งคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 374/2539 คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 651/2539 ของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 1 เมษายน 2539 ต่อมาวันที่ 16 เมษายน 2542 โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนจำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและขอให้ตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดก ได้มีการเจรจากันศาลได้บันทึกไว้ โจทก์เคยไปแจ้งอายัดที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายไว้ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2542 และเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2542 ระหว่างพิจารณาเรื่องการถอนผู้จัดการมรดกทราบว่า นายสงัดถึงแก่ความตายไปแล้วตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2540 ทั้งจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2542 และมีการขายต่อให้แก่จำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2542 หลังจากนั้นศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายคำสั่งคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 374/2539 หมายเลขแดงที่ 651/2539 ของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 26 มีนาคม 2546 คดีสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ยุติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สองว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1726 บัญญัติว่า “ถ้าผู้จัดการมรดกมีหลายคน การทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นต้องถือเอาเสียงข้างมาก…ถ้าเสียงเท่ากัน เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด” ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันตามคำสั่งศาล การฟ้องคดีเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกประการหนึ่งตามมาตรา 1736 วรรคสอง ดังนั้น โจทก์แต่ผู้เดียวไม่มีอำนาจยื่นฟ้องเพียงลำพัง แม้การกระทำของจำเลยที่ 1 จะเป็นปฏิปักษ์และเสียหายต่อกองมรดกตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยก็ตาม เพราะโจทก์สามารถยื่นคำร้องต่อศาลแสดงเหตุขัดข้องเพื่อขออนุญาตฟ้องหรือขอให้ศาลถอดถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1727 วรรคหนึ่งได้ นอกจากนี้ โจทก์อาจใช้สิทธิความเป็นทายาทฟ้องในฐานะส่วนตัวเพื่อให้จำเลยที่ 1 รับผิดในการจัดการมรดกตามมาตรา 1733 วรรคสอง ก็ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้น
อนึ่ง ตามพฤติการณ์แห่งคดีดังข้อเท็จจริงที่ฟังได้ยุติเห็นได้ชัดเจนถึงความไม่สุจริตของจำเลยที่ 1 จึงเห็นสมควรให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 ประกอบมาตรา 167
พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 36,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2