คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6252/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในชั้นขอปล่อยบุคคลซึ่งถูกคุมขังโดยมิชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 90 โจทก์ก็ถือเป็นคู่ความในคดี แม้จะไม่เคยเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็ตาม แต่เป็นเพราะศาลชั้นต้นมิได้มีหมายแจ้งให้โจทก์ทราบถึงการยื่นคำร้องของผู้ร้องหรือส่งสำเนาอุทธรณ์ของผู้ร้องให้โจทก์แก้ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้ปล่อยตัวจำเลยย่อมมีผลกระทบต่อการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลฎีกา โจทก์จึงมีสิทธิฎีกาได้
คดีนี้ผู้ร้องในฐานะเป็นบุตรซึ่งถือเป็นญาติของจำเลยซึ่งกล่าวอ้างว่าจำเลยถูกคุมขังโดยมิชอบ แม้ผู้ร้องไม่ได้โต้แย้งการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบผู้ซึ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษตามมาตรา 15 พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2555 ผู้ร้องก็มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นที่มีอำนาจให้ปล่อยได้
พ.ร.ฎ.อภัยโทษ พ.ศ.2555 มาตรา 6 (2) (ง) เป็นบทบัญญัติที่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 8 หมายความว่า หากนักโทษเด็ดขาดรายใดไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ได้รับพระราชทานอภัยโทษตามมาตรา 8 แล้ว จึงจะนำมาตรา 6 มาพิจารณาได้ เมื่อจำเลยเป็นนักโทษเด็ดขาดซึ่งได้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 138 วรรคสอง ประกอบมาตรา 140 วรรคแรกและวรรคสาม อันเป็นความผิดตามบัญชีลักษณะความผิดท้าย พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2555 จึงเข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 8 (2) ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษให้ลดโทษแล้ว จำเลยจึงไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษให้ปล่อยตัวตามมาตรา 6 (2) (ง) อีก

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง ประกอบมาตรา 140 วรรคแรก และวรรคสาม จำคุก 1 ปี 6 เดือน คดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2555
วันที่ 27 กันยายน 2555 ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เรือนจำจังหวัดกาฬสินธุ์ควบคุมตัวจำเลยโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ขอให้ปล่อยตัวจำเลย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้เรือนจำจังหวัดกาฬสินธุ์ปล่อยตัวจำเลยไปในทันที
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ผู้ร้องแก้ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิฎีกานั้น เห็นว่า โจทก์เป็นคู่ความในคดี แม้จะไม่เคยเข้าสู่คดีในการพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็ตาม แต่ก็เป็นเพราะศาลชั้นต้นมิได้มีหมายแจ้งให้โจทก์ทราบถึงการยื่นคำร้องของผู้ร้องหรือส่งสำเนาอุทธรณ์ของผู้ร้องให้โจทก์แก้ ดังนี้ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้ปล่อยตัวจำเลยไปย่อมมีผลกระทบต่อการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกา โจทก์จึงมีสิทธิฎีกาได้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า คดีนี้เป็นเรื่องที่คณะกรรมการตรวจสอบผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2555 ของเรือนจำจังหวัดกาฬสินธุ์มีมติให้จำเลยได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2555 มาตรา 8 แต่ผู้ร้องเห็นว่าจำเลยควรได้รับพระราชทานอภัยโทษตามมาตรา 6 (2) (ง) กรณีเป็นการโต้แย้งมติคณะกรรมการซึ่งต้องมีการอุทธรณ์มติของคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 และฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 นอกจากนี้ผู้ร้องมิได้ยื่นข้อคัดค้านของผู้ร้องต่อคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2555 มาตรา 15 วรรคท้าย พิจารณาชี้ขาดนั้น เห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องในฐานะบุตรซึ่งเป็นญาติของจำเลยยื่นคำร้องโดยกล่าวอ้างว่าเรือนจำกาฬสินธุ์คุมขังจำเลยโดยมิชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากจำเลยได้รับประโยชน์จากพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2555 มาตรา 6 (2) (ง) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 แม้ผู้ร้องไม่ได้โต้แย้งการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษตามมาตรา 15 แห่งพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2555 ก็ตาม ผู้ร้องก็มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลยุติธรรมที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาที่มีอำนาจออกหมายปล่อยตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวให้ปล่อยได้ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อต่อไปว่า คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่ให้เรือนจำจังหวัดกาฬสินธุ์ปล่อยตัวจำเลยไปชอบหรือไม่ เห็นว่า พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2555 มาตรา 6 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 และมาตรา 12 นักโทษเด็ดขาดดังต่อไปนี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป (ง) เป็นคนมีอายุไม่ต่ำกว่าหกสิบปีบริบูรณ์ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับตามที่ปรากฏในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรหรือทะเบียนรายตัวของเรือนจำในกรณีไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ซึ่งมีโทษจำคุกตามกำหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่ไม่เกินสามปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ หรือเป็นคนมีอายุตั้งแต่เจ็ดสิบปีขึ้นไป” และมาตรา 8 บัญญัติว่า “นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษตามบัญชีลักษณะความผิดท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษดังต่อไปนี้ (1) ผู้ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ให้เปลี่ยนเป็นกำหนดโทษจำคุกห้าสิบปี แล้วให้ลดโทษตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหาร ดังต่อไปนี้ ชั้นเยี่ยม 1 ใน 5, ชั้นดีมาก 1 ใน 6, ชั้นดี 1 ใน 7, ชั้นกลาง 1 ใน 8 โดยให้นับโทษจำคุกนั้นตั้งแต่วันที่ต้องรับโทษ เว้นแต่กรณีที่จะต้องนับโทษต่อจากคดีอื่น ให้นับโทษต่อจากคดีอื่นนั้น (2) ผู้ต้องโทษจำคุกไม่ถึงตลอดชีวิต ให้ลดโทษจากกำหนดโทษตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหารตาม (1)” ดังนี้ บทบัญญัติมาตรา 6 (2) (ง) จึงเป็นบทบัญญัติที่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 8 ซึ่งหมายความว่า หากนักโทษเด็ดขาดรายใดไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ได้รับพระราชทานอภัยโทษตามมาตรา 8 แล้ว จึงจะนำมาตรา 6 มาพิจารณาได้ มิใช่หมายความว่านักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษตามบัญชีลักษณะความผิดท้ายพระราชกฤษฎีกาต้องได้รับพระราชทานอภัยโทษโดยลดโทษตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 ก่อน และหากนักโทษเด็ดขาดผู้นั้นยังมีคุณสมบัติ ลักษณะ โทษที่ได้รับมาแล้ว หรือโทษที่ยังคงเหลือที่จะต้องรับโทษต่อไป แล้วแต่กรณี ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 อย่างหนึ่งอย่างใด นักโทษเด็ดขาดผู้นั้นย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 6 ด้วยดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัย มิฉะนั้นแล้วย่อมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2555 ที่บัญญัติแบ่งนักโทษเด็ดขาดเป็นประเภทต่าง ๆ ไว้ โดยให้นักโทษเด็ดขาดแต่ละประเภทได้รับพระราชทานอภัยโทษมากน้อยลดหลั่นกันไป และบางประเภทก็ไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษเลย เมื่อจำเลยเป็นนักโทษเด็ดขาดซึ่งกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง ประกอบมาตรา 140 วรรคแรกและวรรคสาม อันเป็นความผิดตามบัญชีลักษณะความผิดท้ายพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2555 จึงเข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 8 (2) ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตราดังกล่าว โดยจำเลยไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษให้ปล่อยตัวตามมาตรา 6 (2) (ง) การที่เรือนจำจังหวัดกาฬสินธุ์ไม่ปล่อยตัวจำเลยจึงมิใช่เป็นการคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง

Share