คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2610/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นใบลาขออนุญาตหยุดงานเป็นเวลา 4 วัน ติดต่อกัน แต่เมื่อจำเลยไม่อนุญาต โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องมาทำงานให้แก่จำเลยในวันและเวลาทำงานปกติตามที่จำเลยมอบหมาย เมื่อโจทก์ไม่มาทำงานแต่กลับเดินทางไปประเทศกัมพูชาเพื่อหาช่องทางทำธุรกิจซึ่งเป็นเหตุส่วนตัวของโจทก์ จึงถือว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 60,433.33 บาท ค่าเสียหายจำนวน 444,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ ค่าจ้างค้างจำนวน 3,699.99 บาท และค่าชดเชยจำนวน 222,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2538 ตำแหน่งผู้จัดการโครงการ มีหน้าที่ควบคุมดูแลตรวจสอบงานด้านก่อสร้างให้จำเลย ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 37,000 บาท โจทก์ขาดงานตั้งแต่วันที่ 9 ถึง 11 ตุลาคม 2543 โดยเดินทางไปประเทศกัมพูชาจึงเป็นการละทิ้งหน้าที่ กรณีมีเหตุสมควรให้เลิกจ้างโจทก์ ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างระหว่างวันที่ 9 ถึง 11 ตุลาคม 2543 แต่การที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่เดินทางไปประเทศกัมพูชาเนื่องจากงานของโจทก์ใกล้จะหมดแล้ว และโจทก์เตรียมตัวจะออกจากงานจึงมีความจำเป็นเพื่อหาช่องทางทำธุรกิจและไม่อาจเลื่อนการเดินทางได้ แม้จำเลยจะไม่อนุญาตให้โจทก์ลา แต่ก็ถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยมีเหตุอันสมควรโจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 222,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 17 ตุลาคม 2543) จนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยมีหน้าที่ต้องทำงานให้แก่จำเลยในวันทำงานและเวลาทำงานปกติตามที่จำเลยมอบหมาย แม้โจทก์จะยื่นใบลาต่อจำเลยขออนุญาตหยุดงานในวันที่ 9 ถึง 11 ตุลาคม 2543 แต่เมื่อจำเลยไม่อนุญาตให้โจทก์ลา โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องมาทำงานให้แก่จำเลยในวันและเวลาทำงานดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่มาทำงานให้แก่จำเลยในวันและเวลาทำงานดังกล่าว แต่กลับเดินทางไปประเทศกัมพูชาเพื่อหาช่องทางทำธุรกิจซึ่งเป็นเหตุส่วนตัวของโจทก์ จึงถือว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (5) จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีก
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องในส่วนค่าชดเชยเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง.

Share