แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 30 เป็นเรื่องที่ศาลจะออกข้อกำหนดใดแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือบุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาลในการพิจารณาคดี เป็นความจำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล และศาลจะออกข้อกำหนดก่อนโดยห้ามมิให้ผู้ใดก่อความรำคาญหรือประวิงคดี ขัดขวางการพิจารณาคดีของศาลหากผู้ใดไม่ปฏิบัติตามถือว่าบุคคลนั้นมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล แต่ความผิดมาตรา 31 (1) ฐานประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลเป็นความผิดในตัวศาลไม่ต้องออกข้อกำหนดก่อน และไม่จำต้องกระทำต่อหน้าศาล หากมีการกระทำภายในบริเวณศาลก็ถือว่าประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลเพียงพอที่จะถือได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามมาตรา 33 (1) แล้ว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจาก นางเถี้ยน เมฆใหม่ กล่าวหาว่า ผู้กล่าวหาเป็นผู้เสียหายและพยานในคดีอาญาของศาลชั้นต้นมีนายดุลเหล๊าะหรือบังเหล๊าะ หมิแหย ผู้ถูกกล่าวหาเป็นจำเลย เมื่อเวลาประมาณ 12 นาฬิกา ขณะผู้กล่าวหานั่งอยู่บริเวณข้างศาลแขวงนครศรีธรรมราช ผู้ถูกกล่าวหาเข้าไปชี้หน้าผู้กล่าวหาและพูดข่มขู่ว่า ผู้กล่าวหาไม่เคยตายและไม่รู้จักตายหรือ ผู้กล่าวหาตกใจกลัวว่าผู้ถูกกล่าวหาจะทำร้ายจนเป็นอันตรายต่อชีวิตในภายภาคหน้าจึงเข้าไปแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช แล้วยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวผู้ถูกกล่าวหา
ผู้ถูกกล่าวหาให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ผู้ถูกกล่าวหามีความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1), 33 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 จำคุก 6 เดือน
ผู้ถูกกล่าวหาอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุก 2 เดือน ไม่ปรากฏผู้ถูกกล่าวหาเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้เปลี่ยนโทษจำคุกดังกล่าวเป็นโทษกักขังมีกำหนด 2 เดือนแทน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ผู้ถูกกล่าวหาฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นโดยคู่ความมิได้โต้แย้งฎีกาเป็นอย่างอื่นว่า เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2544 ขณะที่นางเถี้ยน เมฆใหม่ ผู้กล่าวหานั่งรออยู่ที่ม้าหินขัดด้านทางขึ้นศาลแขวงนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นบริเวณส่วนหนึ่งของศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่อการพิจารณาคดีอาญาหมายเลขดำที่ 6/2544 ในฐานะเป็นพยานและผู้เสียหาย ได้มีนายดุลเหล๊าะหรือบังเหล๊าะ หมิแหย ผู้ถูกกล่าวหาจำเลยในคดีดังกล่าวได้เดินเข้ามาพูดกับผู้กล่าวหา จากนั้นผู้กล่าวหาไปแจ้งให้ดาบตำรวจ ไสว บุญศรี หัวหน้าเจ้าพนักงานตำรวจรักษาความปลอดภัยอ้างว่าถูกผู้ถูกกล่าวหาข่มขู่เป็นคดีนี้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหาได้เข้ามาพูดขู่ผู้กล่าวหาว่าเคยตายหรือไม่ รู้จักไหมว่าตายอย่างไรอันเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ เห็นว่า นางเถี้ยน เมฆใหม่ ผู้กล่าวหาเบิกความยืนยันว่าขณะนายดุลเหล๊าะหรือบังเหล๊าะผู้ถูกล่าวหาได้เดินเข้ามาชี้หน้าผู้กล่าวหา และพูดว่าเคยตายหรือไม่ รู้จักไหมว่าตายอย่างไร และผู้ถูกกล่าวหานั่งลงที่ม้าหินขัด ผู้กล่าวหาจึงได้วิ่งไปแจ้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย นายเปลี่ยน รัตน์วรรณ ซึ่งนั่งอยู่ที่ม้าหินขัดบริเวณดังกล่าวอยู่ห่างผู้กล่าวหาประมาณ 1 วา ก็เบิกความสอดคล้องกับผู้กล่าวหาว่า ขณะเกิดเหตุเห็นผู้ถูกกล่าวหาเดินมายืนด้านหน้าผู้กล่าวหาพูดเสียงดังจับใจความไม่ชัด แต่มีประโยคว่า ตายๆ ประโยคหน้าและหลังที่ประกอบให้จับใจความฟังไม่ชัดเจน ผู้กล่าวหายังเบิกความต่อไปอีกว่า เมื่อวิ่งไปหาพนักงานรักษาความปลอดภัยบริเวณใกล้เคียง คือพลทหารสวิท เสรีพล กับพลทหารชนะ สงวนกาญจน์ ได้เล่าเรื่องดังกล่าวให้ฟัง พนักงานรักษาความปลอดภัยทั้งสองคนแนะนำให้ไปแจ้งดาบตำรวจไสว บุญศรี เจ้าพนักงานตำรวจประจำศาล ผู้กล่าวหาจึงไปแจ้งดาบตำรวจไสว ความข้อนี้ทั้งพลทหารสวิท พลทหารชนะ และดาบตำรวจไสวต่างเบิกความทำนองเดียวกันกับผู้กล่าวหา โดยเฉพาะดาบตำรวจไสวยังได้ทำบันทึกถึงผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช (ปรากฏในสำนวน) ระบุว่าผู้กล่าวหาได้มาแจ้งว่า ถูกผู้ถูกกล่าวหาขู่เข็ญว่า “มึงไม่รู้จักตายหรือ” ซึ่งแม้ถ้อยคำดังกล่าวจะไม่ตรงกับคำขู่ที่ผู้กล่าวหาเบิกความทุกตัวอักษรแต่ก็สื่อความหมายข่มขู่จะทำอันตรายถึงแก่ความตายนั้นเองไม่ได้มีความหมายเป็นคำสาบานหรือน้อยเนื้อต่ำใจหรือเดือดร้อนถึงตายดังผู้ถูกกล่าวหาฎีกา จึงเชื่อได้ว่าผู้กล่าวหาเบิกความไปตามความเป็นจริง โดยเฉพาะนายเปลี่ยน พลทหารสวิท พลทหารชนะ และดาบตำรวจไสวต่างไม่รู้จักกับคู่กรณีทั้งสองฝ่ายมาก่อนไม่มีเหตุผลใดจะสร้างเรื่องขึ้นมาเพื่อเบิกความปรักปรำผู้ถูกกล่าวหาให้ได้รับโทษ ที่ผู้ถูกกล่าวหานำสืบต่อสู้ว่า เข้าไปพูดกับผู้กล่าวหาเพื่อสอบถามว่า ผู้ถูกกล่าวหานำความเดือดร้อนอะไรให้ จึงไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหา เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานผู้กล่าวหาได้ ข้อเท็จจริงเชื่อได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าผู้ถูกกล่าวหาได้พูดข่มขู่จะทำอันตรายต่อชีวิตผู้กล่าวหาก่อนที่ผู้กล่าวหาจะเข้าเบิกความเป็นพยานในคดีอาญาอันเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล จึงเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหาฎีกาอ้างว่า การพิจารณาคดีละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1) นั้นจะต้องอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 ประกอบด้วย ซึ่งกำหนดให้ศาลมีอำนาจออกข้อกำหนดใดๆ แก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาลนั้น เห็นว่า ตามมาตรา 30 ดังกล่าวเป็นเรื่องที่ศาลจะออกข้อกำหนดใดแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาลในการพิจารณาคดีเป็นความจำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลและศาลจะออกข้อกำหนดก่อนโดยห้ามมิให้ผู้ใดก่อความรำคาญหรือประวิงคดี ขัดขวางการพิจารณาคดีของศาล หากผู้ใดไม่ปฏิบัติตามก็ถือว่าบุคคลนั้นมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล แต่ความผิด มาตรา 31 (1) ฐานประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลเป็นความผิดในตัวศาลไม่ต้องออกข้อกำหนดก่อน และไม่จำต้องข่มขู่ผู้กล่าวหาต่อหน้าศาลตามมาตรา 30 หรือไม่ หากมีการข่มขู่กันอยู่ในบริเวณศาลก็ถือว่าประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลเพียงพอที่จะถือได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามมาตรา 31 (1) แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน