คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1703-1704/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำสั่งยกเลิกการล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 135 (1) หรือ (2) ไม่ทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นหนี้สินแต่อย่างใด ตามมาตรา 136 คำว่า “หนี้สิน” มิได้หมายความเฉพาะหนี้ที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ไว้ในคดีล้มละลายแล้วเท่านั้น ดังนั้น แม้เจ้าหนี้ จะมิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ในคดีล้มละลายที่ยกเลิกนั้น ตามมาตรา 27 และตามกำหนดเวลาที่บัญญัติไว้ในมาตรา 91 เจ้าหนี้ก็ยังมีสิทธิที่จะฟ้องลูกหนี้เกี่ยวกับหนี้สินนั้นเป็นคดีล้มละลายคดีใหม่หรือคดีแพ่งธรรมดาอีกได้
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 21/2506)

ย่อยาว

คดี ๒ เรื่องนี้พิจารณาพิพากษารวมกันโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คของธนาคารกรุงเทพฯ จำนวนเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท ซึ่งจำเลยที่ ๒ เป็นผู้สั่งจ่าย จำเลยที่ ๑ เป็นผู้สลักหลัง ธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงิน จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ถูกฟ้องล้มละลาย ศาลพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ต่อมาเจ้าหนี้ร้องขอถอนคำขอรับชำระหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาล ศาลสั่งยกเลิกการล้มละลายตามมาตรา ๑๓๖ พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓ จำเลยไม่หลุดพ้นหนี้สินของโจทก์ โจทก์จึงฟ้องขอให้ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยเป็นคนล้มละลาย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยเคยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีแดงที่ ๔๓,๔๕/๒๕๐๕ เจ้าหนี้ถอนคำขอรับชำระหนี้ โดยปลดหนี้ให้จำเลยหมดสิ้น ศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลาย ตามมาตรา ๑๓๕ (๒) แล้ว หนี้ที่โจทก์ฟ้องเกิดก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีนั้น เมื่อโจทก์ไม่ขอรับชำระหนี้ใน ๒ เดือน หนี้ของโจทก์จึงสูญสิ้นขาดอายุความไป จำเลยไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว การมอบอำนาจให้ฟ้องไม่ถูกต้อง เช็ครายพิพาทไม่มีลายมือชื่อจำเลยที่ ๑ ตามที่ได้จดทะเบียนไว้ ณ กองหุ้นส่วนบริษัท
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เช็ครายพิพาทมีแต่ตราของจำเลยที่ ๑ประทับไว้ด้านหลัง ไม่มีบุคคลลงลายมือชื่อไว้ และไม่ได้ความว่าเป็นตราที่จำเลยที่ ๑ ใช้ประทับแทน ลงลายมือชื่อตามปกติ ไม่มีมูลที่จำเลยที่ ๑ จะต้องรับผิด ส่วนจำเลยที่ ๒ นั้นเป็นผู้สั่งจ่าย และได้ความว่า จำเลยที่ ๒ มีหนี้สินล้นพ้นตัว พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.๒๔๙๓ มาตรา ๑๓๖ บัญญัติว่า คำสั่งยกเลิกการล้มละลายตามมาตรา ๑๓๕(๑) หรือ (๒) ไม่ทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นหนี้สินแต่อย่างไร ศาลชั้นต้นเห็นว่า มาตรา ๑๓๖ ไม่ได้หมายความเฉพาะหนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ไว้แล้วเท่านั้น มาตรา ๒๗ และ ๙๑ ก็หมายความเฉพาะเจ้าหนี้ที่ประสงค์จะขอรับชำระหนี้ ในคดีล้มละลายเรื่องใด ต้องขอรับชำระหนี้ในคดีเรื่องนั้นในกำหนดเวลา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ ๒ เด็ดขาด และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓ มาตรา ๙๑ เจ้าหนี้ ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในเวลาที่ระบุไว้จึงจะดำเนินการที่จะให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายต่อไปได้ โจทก์มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายภายในกำหนด โจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะกระทำเช่นนั้นต่อไปในคดีล้มละลาย กล่าวคือ หมดสิทธิในอันที่จะดำเนินการแก่ลูกหนี้ให้เป็นบุคคลล้มละลายได้ต่อไป จึงไม่มีสิทธิที่จะนำคดีหนี้สินรายเดียวกันมาฟ้องเป็นคดีล้มละลายอีกได้ คดีไม่มีประเด็นว่าโจทก์จะฟ้องเป็นคดีแพ่งธรรมดาได้หรือไม่ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นต่อไป จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสองฎีกาขอให้ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่๒
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓ มาตรา ๒๗,๙๑ ที่บัญญัติให้เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ได้แต่เฉพาะต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลา ๒ เดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น หมายความเฉพาะเมื่อคดีล้มละลายเรื่องนั้นยังดำเนินอยู่ เจ้าหนี้ต้องดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อขอรับชำระหนี้ได้ในคดีนั้น แต่ในคดีที่โจทก์ฟ้องขึ้นมานี้ไม่มีคดีล้มละลายดำเนินอยู่ เพราะศาลได้มีคำสั่งยกเลิกคดีล้มละลายที่ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดนั้นก่อนแล้ว โดยมีคำสั่งยกเลิกตามมาตรา ๑๓๕(๒) เพราะเจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ ๔ รายขอถอนคำขอทั้งหมด จำเลยจึงไม่ควรถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลาย คำว่า “หนี้สิน” ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓ มาตรา ๑๓๖ นั้น ไม่มีข้อความใดแสดงให้เห็นว่า หมายความเฉพาะหนี้ที่ได้ยื่นคำขอรับชำระไว้แล้วในคดีล้มละลายเท่านั้น จึงไม่ชอบที่ศาลจะตีความเพิ่มเติมให้มีข้อจำกัดลงไปในบทกฎหมายนั้นอีกประการหนึ่ง ตามมาตรา ๑๓๕(๑) หรือ (๒) นั้น เป็นกรณีที่ไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่จะทำให้หนี้สินระงับลง มาตรา ๑๓๖ จึงระบุเป็นข้อยกเว้นไว้ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ยังคงมีอยู่ตามเดิม โจทก์จะฟ้องเป็นคดีแพ่งธรรมดาหรือคดีล้มละลายก็ย่อมทำได้ตามสิทธิของโจทก์ ไม่มีเหตุที่จะวินิจฉัยสิทธิที่ว่านี้ให้แตกต่างกันไปแต่ประการใด โจทก์ย่อมฟ้องคดีขอให้ลูกหนี้ล้มละลายอีกได้ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้ แต่ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยประเด็นอื่นที่คู่ความพิพาทกันมา
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาประเด็นอื่น ๆ ในคดีแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปความ

Share